“เยาวชนบ้านห้วยเต่า กำปง กีตอ” หัวใจจิตอาสา สู่หมู่บ้านจัดการตนเอง

เมื่อเราเดินทางผ่านม่านหมอกในยามเช้า เข้าสู่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ที่ห้อมล้อมไปด้วยป่าเขาและขนาบข้างด้วยสวนยางพาราที่กำลังทิ้งใบในช่วงปลายปีแบบนี้  “ขวัญ สุดสวาท สังข์น้อย”  หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคูหา(อบต.คูหา) อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ชี้ชวนให้เราดูต้นทุเรียนบ้านต้นสูงนับสิบเมตรที่เติบโตบนดินอันอุดมไปด้วยมรดกทางธรรมชาติจากบรรพกาล(ฟอสซิล) อีกทั้งมีต้นกาแฟพันธุ์โรบัสต้า ซึ่งว่ากันว่าที่นี่คือต้นกำเนิดกาแฟโรบัสต้าแห่งแรกในประเทศไทย  ก็เกิดและเติบโตที่บ้านห้วยเต่า หมุดหมายปลายทางที่ ขวัญ กำลังพาพวกเราไปพบกับกลุ่มเยาวชนที่มีความพิเศษไม่แพ้ทุเรียนบ้านและกาแฟโรบัสต้า

เมื่อเราเดินทางถึงที่ทำการห้วยเต่า กำปง กีตอ (หมู่บ้านจัดการตนเองหมู่ 7) กลุ่มแม่บ้านกำลังขมักเขม้นปิ้งข้าวเหนียวห่อใบตอง ถัดไปมีพริกแกงหลายชนิด ติดฉลากว่าเป็นของกลุ่มแม่บ้านผลิตเอง ขณะที่อีกมุมมีชาชัก ชานมร้อนคอยให้บริการ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยเต่า ที่ทำงานต่อเนื่องมาหลายปีผ่านสภาเยาวชนชาย และสภาเยาวชนหญิงบ้านห้วยเต่า

“ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เยาวชนกลุ่มนี้จะไปมีส่วนร่วมแทบจะทุกส่วน ทั้งในส่วนของโรงเรียนผู้สูงอายุ ส่วนของแม่บ้าน เรียกได้ว่ายุ่งไปทุกเรื่อง เอ่ยปากง่ายใจดี จิตสาธารณะ” ขวัญ บรรยายให้เราเห็นความเป็นจิตอาสาของกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้

จุดเริ่มต้นของกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยเต่า เกิดจากกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันเล่นฟุตบอล และเห็นปัญหาของเด็กๆเยาวชนในพื้นที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จึงชักชวนกันมาเล่นฟุตบอล ตั้งทีมออกไปแข่งขันนอกพื้นที่ แต่ปัญหาคือในหมู่บ้านไม่มีสนามฟุตบอลดีๆ พวกเขาจึงเริ่มคิดการใหญ่ อยากมีสนามฟุตบอลเป็นของตนเอง แต่เด็กๆจะทำเองฝ่ายเดียวคงไม่ไหว เขาจึงเข้าไปปรึกษาผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เห็นด้วยให้การสนับสนุน จากรวมตัวเพื่อเล่นฟุตบอล เยาวชนกลุ่มนี้รวมตัวกันเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ตั้งแต่การซ่อมแซมถนน การจัดการขยะในชุมชน เล่นปัญจักสีลัต สอนปัญจักสีลัตให้กับนักเรียน ผลิตน้ำดื่มขาย รวมไปถึงรับจ้างตัดหญ้า ถางป่า ในสวนยางพารา ไร่กาแฟของคนในชุมชน โดยนำเงินที่ได้เก็บไว้ในกองทุน เพื่อสร้างสนามฟุตบอลและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชน  ซึ่งความพยายามของพวกเขา ทำให้สามารถซื้อที่ดินจำนวน 14 ไร่ จากเงินทุนและเงินบริจาคจากชุมชนจำนวน 1,350,000 บาท ได้สำเร็จ

 

อัสนาวี อาลี  รองประธานสภาเยาวชนบ้านห้วยเต่า บอกกับเราว่า สิ่งแรกที่เห็นเป็นปัญหาคือเรื่องยาเสพติด การตั้งกลุ่มก็เพื่อป้องกันเด็กๆในชุมชนไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

“ เราจัดตั้งกลุ่มเพื่อป้องกัน เด็กๆเพื่อไม่ให้เข้าไปยุ่งกับยาเสพติดในอนาคต ให้เยาวชนเข้ามาเตะฟุตบอล หารายได้จากการรับจ้างถางหญ้า อีกทางก็เพื่อหารายได้เข้าไปในกองทุนของเด็กและเยาวชน เงินตรงนี้ เราก็ไปจัดการเกี่ยวกับสนามกีฬาสนามฟุตบอล ทั้งหมดนี้เพื่อเป้าหมายให้บ้านห้วยเต่า เป็นชุมชนที่น่าอยู่แล้วก็อยากให้ ทุกคนนั้นมีความสามัคคี กัน ซึ่งจะช่วยในการยกระดับเยาวชนในหมู่บ้าน ในชุมชนมีจิตอาสาในการทำความดีอีกด้วย ส่วนตัวรู้สึก ภูมิใจที่ได้ทำ ที่ได้ช่วยเหลือชุมชน”

 

ขณะที่ ฟาดีละห์  เว๊าะกอ   รองประธานสภาเยาวชนหญิงบ้านห้วยเต่า บอกว่า สภาเยาวชนหญิงเกิดมาจากเห็นสภาเยาวชนชายทำงาน จึงปรึกษากันกับผู้ใหญ่ ผู้ปกครองและกลุ่มแม่บ้านก่อนว่าเราจะทำอะไรให้เห็นว่า เยาวชนหญิงก็มีกิจกรรมร่วมกัน และช่วยเหลือชุมชนได้

“ สภาเยาวชนหญิงก็ควรที่จะทำอะไร ทำขนมหรือว่าอย่างอื่น อย่างเช่น ทำอาหารว่างเวลามีจัดประชุมหรือจัดงาน ร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน ทำให้มีรายได้และเยาวชนหญิงได้ทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนการทำงานของสภาเยาวชนชาย ช่วยกันขับเคลื่อนงานจิตอาสาในชุมชน”

หลังจากได้ลิ้มรสอาหารท้องถิ่นของชาวบ้านห้วยเต่า ทั้งแกงบอนไก่ชิ้นโต ยำมะม่วงเบา และน้ำพริกกะปิรสจัดจ้าน แนมด้วยผักสดๆจากสวน อาทิ ใบเหลียง ที่กลุ่มแม่บ้านตั้งใจทำต้อนรับผู้มาจากแดนไกลเช่นพวกเรา คุณครู จากโรงเรียนบ้านห้วยเต่าก็เข้ามาบอกเล่าถึงการทำงานร่วมกันของโรงเรียนกับกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยเต่ากลุ่มนี้

เพาซียะห์  เจะละ หรือ ครูยะห์ ของนักเรียน เล่าว่า เห็นกลุ่มเยาวชนเล่นปัญจักสีลัต เด็กนักเรียนในโรงเรียนก็สนใจ จึงปรึกษากับผอ.โรงเรียน เพื่อจะนำปัญจักสีลัต เข้ามาเป็นหนึ่งในหลักสูตรท้องถิ่น อีกทั้งเด็กๆจะได้สานต่อกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนต่อจากรุ่นพี่ได้ และที่สำคัญที่สุดยังช่วยให้กลุ่มเยาวชนมีรายได้อีกด้วย

“วิทยากรส่วนหนึ่งก็เป็น พวกสภาเยาวชนในหมู่บ้านเพราะว่ามีคนที่สามารถเป็นผู้ฝึกสอนให้ได้ เราก็ช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วยก็คือ ให้ค่าตอบแทน เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเยาวชน เด็กเราก็จะได้ฝึกวิชาปัญจสีลัตด้วย”

ส่วนครู รจนา  บัวทอง กล่าวด้วยด้วยยิ้มว่า กลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนบ้านห้วยเต่า ออกมาทำประโยชน์เพื่อชุมชนคือสิ่งที่เธอภูมิใจที่สุด

“ภูมิใจ แล้วก็ยินดีกับเขาด้วย เขามาช่วยตรงนี้ไม่ได้ไปยุ่งกับยาเสพติด ที่นี่เคยเป็นดงยาเสพติดมาก่อน หลายๆคนแม้ไปเรียนต่อ แต่ก็กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สร้างประโยชน์ให้กับตัวเขา ให้เขาได้เห็นคุณค่าของตัวเอง และได้สร้างคุณค่าให้กับหมู่บ้านด้วย และหลายๆฝ่ายในชุมชนก็ช่วยเหลือกัน อีกทั้ง อบต.คูหา ก็ได้ร่วมด้วยช่วยกัน พัฒนาหมู่บ้านของเรา”

ก่อนที่พวกเราจะจากลาบ้านห้วยเต่า พวกเราได้เรียนรู้และตระหนักว่า การที่ชุมชนจะเดินหน้าสู่ความเข้มแข็ง ทุกฝ่ายในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการทำงาน และเยาวชนก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้ผู้ใหญ่ การทำงานของพวกเขามาอย่างต่อเนื่อง ได้นำไปสู่ “หมู่บ้านจัดการตนเอง ห้วยเต่า กำปง กีตอ” โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นฐานในการทำงาน

“ น้องๆกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีจิตสาธารณะ แม้กระทั่งโควิคมากลุ่มนี้ก็จะอาสาทำความสะอาด รวมไปถึงจัดการเรื่องขยะ ไม่ว่างานกิจกรรมอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในชุมชนทีมนี้คือทีมหลัก บอกคำเดียวจัดการให้หมด ซึ่งพอเด็กเริ่มเป็นจิตอาสา มันเป็นการจุดประกายให้ทุกคน เยาวชน คนในหมู่บ้าน ฉันก็อยากจะเป็นจิตอาสานะ แต่บางทีไม่กล้าแสดงออก ดังนั้นพอเด็กๆเริ่มต้นผู้ใหญ่ก็จะเอาด้วย เป็นการจุดประเด็นการแก้ไขปัญหาชุมชนด้วยการใช้จิตอาสา เขาคุยกันเองเขาจัดการกันเอง เด็กๆนำโดยมีฐานสำคัญ ก็คือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ฝ่ายผู้สูงอายุ หน่วยงานทั้งในและนอกพื้นที่ ที่จะคอยเป็นฐาน คอยสนับสนุนทุกอย่างให้กับพวกเขา”  ขวัญ สุดสวาท สังข์น้อย หัวหน้าสำนักปลัดอบต.คูหา กล่าวก่อนที่จะได้ชิมตะโก้สาคูที่น้องๆเยาวชนหญิงตั้งใจทำสุดความสามารถ ซึ่งแน่นอนว่ารสชาติไม่เป็นสองรองใครแน่นอน

         กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยเต่า เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆของกลุ่มเยาวชนผู้มีจิตอาสา ร่วมกันพัฒนาชุมชนถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง การเริ่มต้นลงมือทำของพวกเขาช่วยขยายฐานรากในการพัฒนาชุมชนให้จัดการตนเองได้และนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งนี่จะเป็นแรงบันดาลใจและแรงสนับสนุนให้ผู้ใหญ่ไม่ลืมว่า เด็กและเยาวชนก็สามารถที่จะลุกขึ้นมานำและทำให้ชุมชนน่าอยู่ได้

 

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#สสส

#ชุมชนท้องถิ่น