แก่แต่เก๋า! ศูนย์รวมภูมิปัญญาท้องถิ่นแม่ปูคา

ปัจจุบันข้อมูลผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงมากขึ้นและคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ว่างงาน หรือหลายคนอยู่บ้านเฉย ๆ แต่ผู้สูงอายุ ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กลับรวมตัวกันและตั้ง “ศูนย์รวมภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลแม่ปูคา” เพื่อสร้างอาชีพ และยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่า ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา

นางสาวดวงพร เฮง บุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับ สนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า ที่ผ่านมา สสส. ให้การสนับสนุน “ศูนย์รวมภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลแม่ปูคา” ทั้งในเรื่องของเครื่องมือ กลไก และให้คำแนะนำในเชิงวิชาการ เพื่อให้ระบบการดูแลผู้สูงอายุมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนท้องถิ่น

ภายใต้การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่นนั้นใช้แนวคิดและหลักการสำคัญคือ 1.ต้องคำนึงถึงผู้สูงอายุในทุกงานและกิจกรรม และทุกนโยบายของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุ 2.เน้นให้เกิดศักยภาพการจัดระบบการจัดการของทุนทางสังคมจนเกิดงานและกิจกรรมเพื่อการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติ

3.การเรียนรู้จากการปฏิบัติการที่ได้ผลดีจริงทั้งในพื้นที่ตนและข้ามพื้นที่ เพื่อต่อยอดการพัฒนาที่สามารถปฏิบัติได้จริงและเหมาะสม และ 4.การจัดการความรู้จากบทเรียน การพัฒนางานให้ได้องค์ความรู้ที่นำสู่การปฏิบัติได้และการทำงานร่วมกันขององค์กรหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งการทำงานกับหน่วยงานสนับสนุนอื่นนอกพื้นที่ด้วยการกำหนดเป้าหมาย

นายศรีทน กำมะโน รองนายกเทศมนตรี และประธานศูนย์รวมภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลแม่ปูคา เล่าว่า ในชุมชนมีกลุ่มผู้สูงอายุอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคนติดบ้านไม่ค่อยออกมาพบปะบุคคลภายนอก ต่อมาได้มีการตั้ง “ศูนย์รวมภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลแม่ปูคา” โดยผู้สูงอายุจะจับกลุ่มกันทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีโอกาสได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังมีการอบรมฝึกอาชีพเพื่อให้ผู้สูงอายุนำไปทำเป็นงานอดิเรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการส่งเสริมกิจกรรมส่งเสริมอาชีพและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ ภายใต้การให้คำปรึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

ขณะที่ นายจำรัส วรรณก้อน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มตัดตุงล้านนา บอกว่า การตัดตุงล้านนาเป็นศิลปะที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันนี้หาคนสืบทอดยาก คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่การที่ได้มาเป็นสมาชิกศูนย์รวมภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลแม่ปูคา ก็ทำให้การตัดตุงล้านนาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และยังช่วยสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าไม่ให้สูญหายไป และไม่ใช่แค่นั้น ยังได้ออกกำลังกาย ได้ออกมาพบปะเพื่อนฝูงไม่ต้องเหงาอยู่กับบ้าน และไม่ต้องเป็นภาระให้กับลูกหลาน

“ศูนย์รวมภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลแม่ปูคา” กลุ่มของผู้สูงอายุที่รวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น เกิดจากความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่าย และถือรากฐานของการทำงาน ที่รองรับจำนวนผู้สูงอายุของประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุก ๆ ปี ซึ่งหากทุกพื้นที่ของประเทศไทยร่วมกันใส่ใจให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ ให้ทำกิจกรรมที่เหมาะสม ได้ทำงานอดิเรกตามความถนัดที่นอกจากจะช่วยคลายเหงาแล้วยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และไม่เป็นภาระให้ลูกหลานอีกด้วย

อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/756462