3 พลัง สร้างสุขยั่งยืน พลังความรู้ – พลังสังคม – พลังนโยบาย

3 พลัง สร้างสุขยั่งยืน พลังความรู้ – พลังสังคม – พลังนโยบาย

วันที่ 2 ของ เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ที่ห้องรอยัลจูบิลี ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม 2565 โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3)  ยังคงเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการเรียนรู้และความกระตือรือร้น ของบรรดาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่มารวมตัวกันกว่า 2,800 คน

ในช่วงเช้า เปิดเวทีด้วยการ บรรยายพิเศษ “บูรณาการให้พื้นที่เป็นฐานการสร้างเสริมสุขภาพ” โดย ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ( สำนัก 3 ) ระบุว่า การทำงานบูรณาการของสสส. เริ่มต้นจากการสร้างกลไกการทำงานในพื้นที่ให้เข้มแข็ง จากนั้นจึงเริ่มนำเอาประเด็นสุขภาพไปขับเคลื่อนร่วมกับพื้นที่มีความเข้มแข็ง โดยปรัชญาการทำงานบูรณาการ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ต้องประกอบด้วย สามพลัง คือ พลังความรู้ พลังสังคม และพลังนโยบาย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหน่วยงานหลักแห่งหนึ่งที่สนับสนุนการทำงานของท้องถิ่นทั่วประเทศ และในงานเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ครั้งนี้ คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มาร่วมงานนี้ด้วย และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สร้างแรงบันดาลใจ ชุมชนท้องถิ่นร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สร้างสุขภาวะชุมชน” ซึ่งสร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้กับพี่น้องเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ไม่น้อยทีเดียว

“จากนี้ต่อไปการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากต้องมีความยั่งยืน และต้องมีคำว่า “สิ่งแวดล้อม” อยู่ในหัวใจของแต่ละชุมชน วันนี้ผมดีใจที่เห็นเครือข่ายพี่น้องในทุกระดับท้องถิ่น ท้องที่ ทั้งหลายมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ ร่วมกัน เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นใช้ศักยภาพและอำนาจที่มีในมือของท้องถิ่น ช่วยกันจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องรอใคร ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจะเป็นผู้คอยให้การสนับสนุน หากมีปัญหาสามารถพูดคุยกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ของแต่ละจังหวัดได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้คำมั่น

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เจ้าของรางวัล Dr. LEE Jong-Wook Memorial Prize for Public Health คือบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้ผู้สูบบุหรี่ในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่านได้ขึ้นเวทีกล่าวถึงการทำงานรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่และควบคุมยาสูบตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา จนประสบความสำเร็จ ท่านได้ย้ำถึงหลักการทำงานนี้ ให้สำเร็จว่า ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับนโยบาย

“เราควบคุมยาสูบเหมือนยิงปืนใหญ่ เพราะสงครามยาสูบคือการแย่งชิงประชาชนระหว่างรัฐ กับบริษัทยาสูบ เราต้องจัดการไม่ให้ลูกหลานเราไปติดบุหรี่ ขอบคุณทุกคนที่จะได้ทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อลดจำนวนเด็กที่ติดบุหรี่ให้น้อยที่สุด” ศ.นพ.ประกิต กล่าวกับสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ทุกๆ คน

ในการเสวนา “สานพลัง ร่วมสร้างสุขภาวะของประเทศไทย” มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาวะมาร่วมแลกเปลี่ยน

เริ่มที่ ดร.ศุทธา แพรสี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานชมรมถ่ายโอนสถานีอนามัยไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ถ่ายทอด เรื่องราวพัฒนาระบบบริการสุขภาพภายใต้การถ่ายโอน ขณะที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ แลกเปลี่ยนในประเด็น การเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่กับสุขภาวะทางจิต

นอกจากนี้ยังมีผู้ก่อตั้งอาข่า อาม่า แบรนด์กาแฟชาวเขาระดับโลก คุณอายุ จือปา มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในประเด็น Startup Social Enterprise จากชุมชนสู่สากล  ส่วนคุณจรงค์ศักดิ์ รองเดช หรือ สตังค์ ผู้ดำเนินรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง มาบอกเล่าถึง การร้อยวัฒนธรรมอาหารสื่อสารภูมิปัญญาชุมชน

ดำเนินการเสวนาโดยคุณวิภาพร วัฒนวิทย์ ผู้ประกาศข่าวช่อง Thai PBS

สำหรับช่วงบ่าย ยังคงมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แยกเป็นห้องย่อยต่างๆ อีก 4 ห้อง แต่ละห้องล้วนมีประเด็นที่น่าสนใจ และมีประโยชน์สำหรับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่จะได้เก็บเกี่ยวกลับไปใช้กับพื้นที่ของตัวเอง

สำหรับห้องแรกเป็นประเด็น “ชุมชนท้องถิ่นร่วมขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบ” เป็นการถกแถลง ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ศักยภาพชุมชนในการควบคุมการบริโภคยาสูบ 2) กฎหมายและนโยบายสู่การสร้างรูปธรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบในชุมชน และ 3) แนวคิดและยุทธศาสตร์การทำงาน อปท.ปลอดบุหรี่ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ใช้เป็นแนวทางในการที่จะพัฒนาความรู้ของพื้นที่ ทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาต่อยอดงานในการขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบในพื้นที่ได้

ประเด็นสร้างความปลอดภัยทางถนน สร้างสุขภาวะชุมชน  ห้องนี้ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนถึง แนวทางการทำงานที่สามารถลดอุบัติเหตุในชุมชน โดยแต่ละพื้นที่ต่างมีปัจจัยความสำเร็จที่แตกต่างกันออกไป แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือ การจะลดอุบัติเหตุได้จริงต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมไปถึงผู้นำต้องนำและทำเป็นตัวอย่าง

อย่างเช่นที่เทศบาลตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา คุณภัทรพล บัญชาจารุรัตน์ นายกเทศบาลตำบลกุดจิก ได้กล่าวถึงการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายขับขี่ปลอดภัยว่า

“ถ้าจะให้บ้านเราปลอดภัย จะเป็นนโยบายภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ เราเป็นผู้บริหาร ต้องลุกขึ้นมาช่วยมาทำ เพราะบริบทแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เราพร้อมจะแก้หรือเปล่า ยิ่งมีเครือข่าย สสส. ยิ่งช่วยได้เยอะมาก

พวกเราที่นี่ต้องช่วยเป็นแกนนำ ถ้าเราไม่ทำ ใครจะทำ บ้านเราเอง เราต้องทำ”

“ร่วมสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุ” คือประเด็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ห้องที่ 3 เวทีนี้ ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผ่านการนำเสนอของผู้นำ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นพื้นที่ตัวอย่าง ซึ่งจะช่วยจุดประกายให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเชื่อมั่นที่จะร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนในการร่วมสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุในพื้นที่ต่อไป

“หลังจากได้จัดทำข้อมูลTCNAP RECAP ตัวนี้เป็นข้อมูลสำคัญเพราะนำไปสู่แผนสุขภาพตำบล เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต” คุณชาญชัย แมดมิ่งเหง้า นายกอบต.คูณใหญ่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ย้ำถึงความสำคัญของข้อมูลที่จะช่วยวางแผนการทำงานของชุมชนได้เป็นอย่างดี

ส่วนประเด็น “บทบาทชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการสิ่งแวดล้อม” ประเด็นนี้ พี่น้องเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้เรียนรู้ “เครื่องมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน” ผ่านการนำเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความเชี่ยวชาญจากหน่วยงาน องค์กร สถาบันวิชาการ ภาคีเครือข่ายที่มีประสบการณ์ จะช่วยสร้างความเข้าใจและจุดประกายให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเชื่อมั่นที่จะร่วมขับเคลื่อนการนำใช้เครื่องมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนในพื้นที่ต่อไป

“การสร้างความรู้ความเข้าใจต้องใช้ข้อมูลโดยการใช้งานวิชาการ ที่เราเรียกว่าข้อมูลเชิงประจักษ์ เราก็เก็บข้อมูลแล้วก็ไปเอาไปปรับเปลี่ยนทัศนคติ สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน สุดท้ายเขาก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม” ดร.พลภัทร เหมวรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) บอกบนเวที

#สสส

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถื่นน่าอยู่

#สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน