จัดการภัยพิบัติแบบบ้านๆ

โลกร้อนขึ้น ภัยพิบัติที่หลายคนไม่คาดคิดจึงผุดขึ้นเต็มไปหมด ทั้งน้ำท่วม พายุเข้า ดินถล่ม และอีกมากมายหลายเรื่อง แต่ที่ดูจะใกล้ตัวคนตะปอเยาะที่สุด คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ดินถล่มที่อำเภอบันนังสตา และศรีสาคร เมื่อปี 2553

ภายหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น คน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้จึงร่วมจัดตั้งเครือข่ายจัดการภัยพิบัติภาคใต้ตอนล่างขึ้นมา โดยมีการอบรมที่จังหวัดปัตตานี เพื่อเรียนรู้และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ โดยมีตัวแทนจากตำบลไปเข้าร่วม 2 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เรือตรีศิริ เกตุกิ่ง อดีตราชนาวีของเมืองไทย

“ตอนนั้นเราไปฝึกกับผู้ใหญ่บ้านโกเมศร์ ทองบุญชู แห่งตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชถึงแนวทางในการจัดการ ถ้าภัยมาทางน้ำจะทำอย่างไร ถ้าดินถล่มจะทำอย่างไร ฝึกปฏิบัติเหมือนจริง เป็นการอบรม 5 วัน แล้วก็กลับมาในพื้นที่ ประชุมสมาชิกที่เป็นจิตอาสาที่จะทำงานร่วมกับเรา ทั้งที่เป็น อสม. และไม่เป็น อสม. ได้มาหมู่บ้านละ 4 คน รวมแล้ว 20 คน โดยการรวมตัวครั้งนี้ไม่ได้ค่าตอบแทน หลังจากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ภัยพิบัติเข้ามาอบรมที่ อบต.ตะปอเยาะ พออบรมเสร็จเราก็อยู่ไปตามปกติ มีอะไรก็คุยกัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ก็เริ่มคุยกันแล้ว ประชาสัมพันธ์ว่าถ้าเกิดภัยขึ้นให้รีบแจ้งมาที่เรา โดยเรามีศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติเครือข่ายภาคประชาชนตำบลตะปอเยาะ อยู่ที่ อบต. ซึ่งแต่ก่อนอยู่ที่บ้านผม แต่เพิ่งย้ายไปได้ไม่นาน”

ศูนย์จะมีโทรศัพท์เป็นสื่อกลาง ส่วนใหญ่คนแจ้งมักจะรับมือกับสถานการณ์ไม่ไหวแล้ว แต่ทั้งนี้น้ำท่วมก็ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับไฟไหม้ป่าพรุ ซึ่งอยู่ที่ส่วนท้ายของหมู่ที่ 1 โดยเกิดขึ้นทุกปี ช่วงเดือนเมษายน ซึ่งน้ำที่ใช้ดับนั้น ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยได้เข้ามาขุดให้แล้ว

“น้ำท่วมส่วนใหญ่ไม่ถึง 3 ชั่วโมงก็ลงแล้ว แต่ถ้าไฟพรุนั้นรุนแรงมาก อย่างปี 2558 นี้ยังน้อย เมื่อปี 2557 นี้หนักเลย ส่วนใหญ่การรับมือเราจะใช้ อพปร. เป็นหลัก ส่วนกลุ่มผู้หญิงก็เสิร์ฟน้ำ ดูแลสวัสดิการ ซึ่งวิธีการจัดการนี้ ส่วนใหญ่ทาง อบต.จะเตรียมการไว้แล้ว เมื่อเกิดเหตุ ก็ใช้รถดับเพลิง ซึ่งตรงนี้จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วย เราเหมือนหน่วยเสริมไปช่วยเขา พอหลังเกิดเหตุ บทบาทอาจจะน้อยหน่อย เพราะเราไม่สามารถไปปลูกป่าทดแทนได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของ เราก็ได้แต่ให้คำแนะนำว่า ต้องเตรียมน้ำไว้บ้าง ไม่ใช่ปล่อยออกไปหมด”

ส่วนการกระจายข่าวสารเครือข่าย เรือตรีศิริบอกว่า ช่วงที่เกิดภัยจะมีการส่งข่าวแจ้งชาวบ้าน โดยอาศัยมัสยิดเป็นสื่อกลาง พร้อมกับประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านถึงมาตรการดูแล เพราะหน่วยงานปกครองจะมีมิสเตอร์เตือนภัย ช่วยทำหน้าที่ติดตามตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะริมเขาซึ่งเป็นจุดเสี่ยง

ขณะที่เรื่องวาตภัย ยอมรับว่าค่อนข้างจัดการยากกว่าอุทกภัย เพราะคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะมาจุดไหน คาดได้แต่ว่าจะมาหลังช่วงไฟป่าคือเดือนพฤษภาคม แต่ทางกลุ่มอาศัยภูมิปัญญาของคนโบราณที่เชื่อว่าต้นไม้ โดยเฉพาะไม้ประดู่สามารถบังลมได้ และลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น จึงรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกพืชประเภทนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี หากให้สรุปถึงภาพรวมการทำงานในพื้นที่ แกนนำกลุ่มยอมรับว่า คนที่ทำงานด้านจิตอาสาเริ่มมีน้อยถอยลงเรื่อยๆ เพราะต้องอาศัยใจ กาย และอาจจะรวมไปถึงเงินด้วย แต่สำหรับพวกเขาแล้ว ผลที่ได้กลับมาก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะอย่างน้อยๆ ก็มีส่วนช่วยแจ้งข่าวยามมีเหตุ รวมไปถึงช่วยเหลือในยามภัยพิบัตินั้นหนักหน่วงกว่าที่คาดการณ์…

01-01resized