สภาซูรอ

07-01resized

“…และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจกรรมทั้งหลาย ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย…” (อาลี อิมรอน 159)

ถ้อยคำที่กล่าวไว้ในบทบัญญัติของคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเล่าถึงแนวทางการปฏิบัติงานในองค์กร ว่าควรใช้หลักการบริหารแบบปรึกษาหารือกัน เพื่อให้งานนั้นประสบความสำเร็จไปด้วยดี และนั่นนับเป็นหัวใจสำคัญที่องค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ ในยุคสมัยของ นายกฯ อาหะมะ วายะ หยิบขึ้นมาใช้เป็นกุญแจสำคัญในการบริหาร

คำว่า ‘ซูรอ’ นี้ หมายถึงการปรึกษาหารือกัน เพราะฉะนั้น สภาซูรอ จึงเป็นพื้นที่ที่ผู้คนหลากหลายเข้ามาประชุมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน

“ตอนนั้นนายกฯ มีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ทั้งการร่วมคิด และสร้างกระบวนการ โดยมีผู้นำทั้งฝ่ายศาสนา ปกครอง ท้องถิ่น ทำงานร่วมกัน ในที่สุดจึงรวมบุคคลเหล่านี้มาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และมีการประชุมปรึกษาหารือในรูปแบบของสภา” อัสมี มะยูโซ๊ะ หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.ตะปอเยาะกล่าว

ปัจจุบันสภาซูรอมี 2 ระดับ คือระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะมีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานประชาคม อิหม่ามในพื้นที่ รวมไปถึงตัวแทนประชาชน ร่วมประชุมกันนำเสนอเรื่องต่างๆ ภายในหมู่บ้าน เช่น ปัญหาเรื่องอาชีพ ปัญหาอาชญากรรม หรือมีความต้องการงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ โดยจะมีความร่วมมือกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเช่น ทหาร ตำรวจ หรือ อบต. เพื่อเดินหน้าต่อไปได้เร็ว

อีกส่วนคือสภาซูรอระดับตำบล ส่วนนี้มีกรรมการทั้งหมด 25 คน มี นายก อบต. เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการประกอบด้วยบุคลากรจาก อบต. เช่น รองนายกฯ ปลัด อบต. นิติกร แล้วก็มีสมาชิกสภา อบต. ผู้ทรงคุณวุฒิจากหมู่บ้านต่างๆ พัฒนาการอำเภอยี่งอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เกษตรกรประจำตำบล ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอยี่งอ ปลัดอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอยี่งอ ผู้อำนวยการโรงเรียนทุกโรงในเขตตำบล ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานหรือรองประธานประชาคมหมู่บ้านต่างๆ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเข้ามามีหน้าที่สำคัญในการทำแผนงบประมาณท้องถิ่น ข้อบัญญัติต่างๆ ในพื้นที่ รวมไปถึงปัญหาซึ่งไม่สามารถแก้ไขในระดับหมู่บ้านได้

“งบประมาณที่ทาง อบต. ตั้งได้ แล้วสามารถแก้ปัญหาได้ก็จะจัดตั้งให้ เช่น ถ้าหมู่บ้านหนึ่งไม่มีรายได้ ท่านนายกฯ ก็จะให้ งบประมาณส่งเสริมอาชีพ ถ้าเป็นปัญหาอาชญากรรมก็จะทำงานร่วมกับตำรวจ ส่วนเรื่องยาเสพติด ก็จะดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ แล้วหาทางออกร่วมกัน โดยใช้กระบวนการซูรอนี้” หัวหน้าสำนักปลัดขยายความ

ทั้งนี้จะมีการประชุมทุกเดือน ที่ อบต. การตัดสินใจใดๆ จะอิงเสียงส่วนใหญ่และความเห็นของกรรมการ เพราะที่นี่ ‘ยึดหลักศาสนา สร้างการมีส่วนรวม เชิดชูผู้สำเร็จ’

ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่เกิดสภาซูรอขึ้น นับว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความมีส่วนร่วมของประชาชนที่เพิ่มพูนขึ้น ด้วยทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของท้องถิ่น ไม่ใช่ว่าการตัดสินใจทั้งหมดจะอยู่ที่คนกลุ่มเดียวอีกต่อไป เนื่องจากการใช้วิธีการเดิม บางทีก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการ หรือแก้ปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง ดังจะเห็นจากหลายโครงการที่เกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ที่นี่ยังเป็นเวทีที่มีความหลากหลาย เพราะกรรมการในสภาฯ เกี่ยวเนื่อง และครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตรกรรม การพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน หรือคุณภาพชีวิต เท่ากับว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้สะท้อนไปสู่บุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง จึงสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิดด้วย…