คิดแบบวิถีพุทธ ทางรอดฝ่าทุนนิยมของชาวเจดีย์ชัย จ.น่าน

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%96%e0%b8%b5%e0%b8%9e%e0%b8%b8%e0%b8%97%e0%b8%98-2-01-01

ท่ามกลางกระแสทุนที่รุนแรง ภาวะค่าครองชีพที่สูงลิ่ว และแนวโน้มราคาพืชผลที่ส่อเค้าจะยังคงทรงตัวอย่างต่อเนื่อง  แน่นอนว่าด้วยปัญหาที่รุมเร้าเหล่านี้อาจทำให้ชุมชนหลายแห่งเกิดภาวะตึงตัว และคุณส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคนในหลายชุมชนในทุกมิติ

 “ชีวิตวิถีพุทธ วิถีชุมชน” กำลังเป็นทางรอดที่ถูกหยิบยกและพูดถึงกันมากในมิติของการพัฒนาชุมชนไทย เพราะวิถีพุทธที่นำทางชุมชนหาใช่เป็นเรื่องเชย ล้าสมัย หากแต่เป็นเรื่องที่สามารถปรับใช้ในการ หนุนเสริม ชุมชนต้นแบบ เพื่อทำให้ การมิติด้านเศรฐกิจฐานรากสร้างให้ชุมชนมีรากฐานที่แข็งแกร่งเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนแท้จริง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จึงให้ความสำคัญต่อแนวคิดเรื่องวิถีพุทธนำทางชุมชน จึงได้หนุนเสริมท้องถิ่นทุกรูปแบบ และความโดดเด่นที่ตำบลเจดีย์ชัย อำเภอปัว จังหวัดน่าน ก็ปรากฎขึ้น ถือได้เป็นโมเดลต้นแบบเรื่องวิถีพุทธนำทางชุมชนที่น่าสนใจ

ด้วยชุมชนขนาด 7,000 คน 9 หมู่บ้าน แม้วัฒนธรรมหลายอย่างจะสูญหายไปหากแต่ชาวเจดีย์ชัยมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น ชาวบ้านจึงทำสัญญาประชาคม ตกลงร่วมกันได้อย่างน่าทึ่งว่าแต่ละหมู่บ้านจะให้เด็กชายที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ไปบวชเรียนที่วัดภายในตำบล จากนั้นทางวัดจะส่งไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดปรางค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมของอ.ปัว จ.น่าน พร้อมทั้งอุปถัมภ์ค่าเทอม ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายจิปาถะให้อีกอีกด้วย

“สมาน วังแสง” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลองค์การบริหารส่วนตำบล เล่าว่า พระที่เรียนในโรงเรียนนี้จบมาได้วุฒิสายสามัญ เหมือนกับฆราวาสทั่วไป ขณะเดียวกันก็ได้เรียนนักธรรมไปด้วย โดยเกณฑ์ ขั้นต่ำในการบวชอยู่ที่ 3 ปี หากคนไหนอยากบวชต่อ จะส่งไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่หากคนไหนไม่อยากบวชแล้ว สามารถสึกออกมาได้

” สำหรับวิธีการคัดเลือก ผู้ปกครองกับคณะกรรมการหมู่บ้านจะมีการพูดคุยกันว่าปีนี้เด็กจบชั้นป.6 กี่คน จากนั้นถามเจ้าอาวาสแต่ละแห่งว่า ต้องการพระเพิ่มเท่าไร ถ้ามีเด็กสมัครใจครบจำนวน หรือเกินก็จบแค่นั้น แต่ถ้าไม่มีใครสมัคร เราจะจับฉลากกัน ผมเองก็เป็นคนหนึ่งนะที่เคยบวชเรียนมาก่อน ” นายกฯสมานเล่าด้วยความภูมิใจ

หลายคนอาจจะมีคำถามขึ้่นมาว่านักบวชเมื่อสึกออกมาแล้วจะมีผลต่อการพัฒนาชุมชนอย่างไร คำตอบจากนายกฯอบต.ของชาวเจดีย์ชัย คือ นอกจากวิถีพุทธจะช่วยสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนในตำบลเจดีย์ชัยแล้วยังนำไปสู่การต่อยอดของภาคประชาสังคมอีกหลากหลายโดยถือเป็นการวางรากฐานเพื่อสร้างสังคมให้มีดุลยภาพ

“ทุกวันนี้เราพยายามวางระบบต่างๆ ให้แก่ตำบล เช่น เรื่องเกษตรอินทรีย์ สวัสดิการสังคมการลงทุนด้านสุขภาพ ภูมิปัญญาวัฒนธรรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเราใช้เวทีนี้ ฮ่วมปะ ฮ่วมคิด คือการนัดพบพูดคุยกันแบบสม่ำเสมอของคนในชุมชน เพื่อเข้าไปสำรวจในทุกระบบ เพื่อให้เห็นภาพที่เด่นชัดขึ้นมา ถ้าพูดถึงเรื่องการจัดการสุขภาพโดยประชาชน เรามีกลุ่มส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเหล่านี้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น เพื่อจัดการกับปัญหาและความต้องการในพื้นที่ได้ ” นายกฯสมานขยายภาพ

ข้อมูลชี้วัดวันนี้ ด้วยมิติการรวมกลุ่มที่สร้างสรรค์และวิถีพุทธทำให้มีการคิดเชิงระบบ ทำให้เจดีย์ชัยสามารถทำได้ทั้งในมิติการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ทั้งรูปแบบคณะกรรมการตำบลเหล้า หมู่บ้านศีล 5  กลุ่มมิตรอาหารปลอดภัย ศูนย์กู้ชีพ กู้ภัย อบต.เจดีย์ชัย ถ้าในแง่สุขภาพของคนทำตำบลเจดีย์ชัย คือการศูนย์แพทย์แผนไทย ที่โดดเด่นอีกหนึ่ง คือ เศรษฐกิจชุมชน  โดยมีทั้ง ศูนย์ OTOPระดับ 5 ดาว ที่ส่งเสริมอาชีพปัวนพเก้าผ้าไทย ของชาวเจดีย์ชัย ถือว่าสร้างชื่อให้ชุมชน

ถึงวันนี้ชาวเจดีย์ชัยส่วนใหญ่แม้จะเป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ข้าวโพดหวานถั่วลิสง ซึ่งเป็นการปลูกแบบที่มีตลาดรองรับอยู่แล้ว แต่ที่นี่ยังมีเกษตรทางเลือกศูนย์เรียนรู้อยู่ด้วย อาทิ ศูนย์เกษตรอินทรีย์เสริมทรัพย์ ของ ลุงเสริม คำแปง เจ้าของสวนเล่าว่า มีรายได้ตลอดทั้งปี เป็นเงินรายเดือน 9,000-10,00 บาท  จากพื้นที่ 9 ไร่ เพราะปลูก มะนาว ให้ผลตลอดทั้งปี มะขามหวานให้ผลเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม มะเฟืองให้ผลเดือนกุมภาพันธ์ มะไฟ ให้ผลเฉพาะเดือนเมษายน มะปรางและมะยงชิด ให้ผลเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม มะม่วงให้ผลเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมกระท้อนและแก้วมังกร ให้ผลช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ส้มโอ ให้ผลเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ลุงเสริมบอกว่าหากเทียบกันแล้ว การ ปลูกแบบผสมผสานดีกว่าการปลูกแบบ เชิงเดี่ยวมาก เพราะมีผลผลิตให้ขายทุกฤดู ที่สำคัญคือราคาสูงกว่า

ทั้งหมดนี้ ทำให้เราได้เห็นว่าด้วยวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นที่แข็งแรง ทุนของชุมชนที่เห็นอัตลักษณ์จุดเด่นของตัวเองอย่างแท้จริง จะทำให้ชุมชนนั้นร่วมคิด ร่วมสร้าง ให้แก่นของต้นทุนชุมชนเหล่านี้เพิ่มมูลค่าต่อชีวิต ความคิด และจิตวิญญาณของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน