ชาวไร่อ้อย สุโขทัย หันมาเลิกเผาใบ แก้ไขปัญหาหมอกควัน และ “หิมะดำ” ได้สำเร็จ100%

ชาวไร่อ้อย สุโขทัย หันมาเลิกเผาใบ แก้ไขปัญหาหมอกควัน และ “หิมะดำ” ได้สำเร็จ 100% ทั้งยังลดต้นทุน ช่วยให้ดินดี แมลงศัตรูพืชหาย  ชูความสำเร็จมาจากความจริงใจ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่

เมื่อถึงเวลาเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตในแต่ละปี สิ่งที่มักจะเห็นกันจนชินตาคือ เศษซากสีดำที่เกิดจากการเผาอ้อย หรือที่เรียกกันว่า “หิมะดำ” ปลิวว่อนไปทั่วพื้นที่ที่ปลูกอ้อยและขยายวงกว้างไปสู่ย่านที่พักอาศัย สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คน และยังส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

จากการคาดการณ์สถานการณ์การผลิตอ้อยโรงงานของประเทศไทย ฤดูกาลผลิตปี 2564/65 (ข้อมูล ณ ธ.ค. 64) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดว่าจะมีเนื้อที่เพาะปลูก 9.90 ล้านไร่ ผลผลิตมากกว่า 77.75 ล้านตัน ซึ่งพื้นที่มหาศาลนี้ หากเกษตรกรยังใช้การเผาก่อนตัดอ้อยส่งโรงงาน สถานการณ์ฝุ่นควันย่อมตามมาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามมีหลายพื้นที่ที่เริ่มหันมา “เลิกเผา” จนสามารถแก้ไขปัญหา “หิมะดำ” ได้สำเร็จ หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ปลูกอ้อย อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย

นายนเรศ  แก้วมณี  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ตำบลในเมือง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เปิดเผยว่า ในพื้นที่หมู่ 6 ประชากรร้อยละ 99 มีอาชีพทำไร่อ้อย รวมแล้วมีไร่อ้อยกว่า 2,000 ไร่ จากเดิมเกษตรกรก็ใช้วิธีจุดไฟเผาใบเพื่อไว้ตอ แต่หลังจากท้องถิ่นเข้ามาให้งบประมาณในการประกอบอาชีพ จึงทำโครงการปลูกอ้อยพันธุ์ดี ตั้งกติกากลุ่มคือ ไม่จุดเผาใบทั้งก่อนตัดและหลังตัด ต้องเป็นคนประพฤติดีและให้ความร่วมมือกับส่วนรวม แม้ช่วงแรกเกษตรกรปลูกอ้อยจะไม่ให้ความสนใจเพราะหากไม่เผาใบจะจัดการยาก แต่เมื่อเห็นผลผลิตที่ดีกว่าการไม่จุดเผาใบก็เริ่มมีสมาชิกในกลุ่มเพิ่มมากขึ้น

“จากเดิมจุดเผาทั้งหมด ตอนแรกมีแปลงของผู้ใหญ่บ้านเป็นแปลงนำร่องไม่จุดเผา จากนั้นคนมาเห็นคล้อยตามและบอกปากต่อปาก เพราะการไว้ใบสิ่งที่สังเหตุเห็นได้ชัดเจน คือ ช่วยค่าใช้จ่ายทั้งการเตรียมดินปลูกรายได้ก็เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนสารเคมีกำจัดวัชพืช ส่วนดินที่เราปลูกพืชมันก็จะมีโครงสร้างของดินดีขึ้นเพราะใบที่เราไม่เผามันจะคลุมความชื้นไว้” นายนเรศ กล่าว

ส่วนกรณีที่เชื่อกันว่าถ้าไม่เผาจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรงงาน การจัดการก็ยากนั้น นายนเรศ เห็นด้วย แต่เห็นว่าการเผาอ้อย สร้างผลกระทบต่อส่วนรวมมากกว่า  เพราะทั้งอำเภอ ทั้งโรงพยาบาล สถานที่ราชการต่าง ๆ ทุกเช้าจะมีเขม่าควันเต็มลานบ้านทุกพื้นที่ พอเลิกเผาปัญหาก็หายไปและสิ่งสำคัญคือ ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นและผลผลิตดีกว่าที่จุดเผาใบและสร้างความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม

“ในหมู่บ้านของเรา รวมกลุ่มกันแล้วเราก็คิดถึงปัญหาการบริหารจัดการใบอ้อย เราจึงทำแผนชุมชน แผนหมู่บ้านนำงบของ โครงการ SML ของรัฐบาล ใน ปี 52 เอามาซื้อเครื่องมือการเกษตร ที่จะบริหารจัดการในเรื่องของกระบวนการไม่จุดเผาใบ เช่น เครื่องสางใบอ้อย เครื่องใส่ปุ๋ย ให้เป็นเครื่องมือกลางของหมู่บ้าน โดยให้สมาชิกเช่าใช้ วันละ 200 บาท เพื่อไว้ซ่อมบำรุง ตั้งแต่ปี 52 จนถึงปัจจุบันเงินเราก็ยังอยู่ครบ ผลผลิตในหมู่บ้านของเราก็ดีขึ้น ในด้านของเศรษฐกิจและเครื่องมือที่นำไปใช้บริหารจัดการซ่อมบำรุงแล้วยังมีเงินเหลือเก็บในหมู่บ้าน”

นายนเรศ ยังกล่าวถึงผลสำเร็จที่สามารถเลิกเผาในพื้นที่ได้ 100% เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หากทำเฉพาะชาวบ้าน ทำโดยที่ไม่มีส่วนที่อื่น ๆ มาร่วมด้วย คงจะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานเกษตรอำเภอสวรรคโลก โรงงานน้ำตาล ท้องถิ่น เทศบาล เขาให้ความสำคัญตรงนี้ ในส่วนของโรงงานก็สนับสนุนถ้าใครไม่จุดเผาใบเขาจะเพิ่มเงินให้ตันละ 20 บาท เกษตรก็มาแนะนำในเรื่องของการไว้ใบ ผลจากการไว้ใบ เมื่อใบมันย่อยสลายแล้วมันจะเป็นอินทรีย์วัตถุในดินที่เปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมีปุ๋ย สูตร 46 -0 – 0 ประมาณ 50 กิโลกรัม ต่อไร่  ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นได้จากความจริงใจของทุกภาคส่วน ไม่ใช่เป็นคำพูด แต่มันเป็นการกระทำของทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพราะว่าการทำงานทุกอย่างย่อมมีปัญหา แต่ด้วยความจริงใจที่มีให้กันมันก็เกิดความศรัทธา และนำไปสู่ผลสำเร็จที่ยั่งยืนได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแนวทางการปลูกอ้อยของหมู่ 6 ที่เริ่มต้นจากผู้ใหญ่นเรศ ได้ขยายแนวคิด ขยายต้นแบบไปสู่หมู่บ้านอื่น ๆ ทั้ง 10 ตำบลที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยในอำเภอสวรรคโลก และหมู่ 6 กลายเป็นเป็นแหล่งศึกษาดูงาน เป็นแหล่งเรียนรู้ของตำบล ของอำเภอสวรรคโลกและขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัด

ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 กล่าวปิดท้ายว่า  ตอนแรก ๆ ก็หาว่าผมบ้าด้วยนะที่ไว้ใบ เพราะมันแปลกกว่าเขาในหมู่บ้าน แปลกอยู่คนเดียว มันบ้าหรือเปล่า มาถึงตรงนี้ได้ ตอนที่ทำตอนแรกไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดฝุ่นควัน แต่เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ผลที่ตามมามันยังประโยชน์ให้กับส่วนรวม มันได้รักษาสิ่งแวดล้อม ถ้าวันนี้เรายังเผาใบกันอยู่ ทุกเช้าที่ชาวสวรรคโลกลืมตาตื่นขึ้นมา “หิมะดำ” ก็มากองหน้าบ้าน หายใจแทบไม่ได้เหมือนเช่นในอดีต

 

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#สสส

#ชุมชนเข้มแข็ง

#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับปรับตัว