ชุมชนเล็กๆ กับภารกิจยิ่งใหญ่ Zero Waste ณ บ้านหนองไฮ

5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก

เมื่อพูดถึงสิ่งแวดล้อม เราคิดถึงอะไรบ้าง หิมะขั้วโลกเหนือละลาย น้ำท่วม แผ่นดินไหว ขยะ มลพิษ ภาวะโลกร้อน ฯลฯ

หากไล่เลียงให้ดีจะพบว่าสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น

ข้อมูลจากกรมมลพิษระบุว่าปี 2558 มีขยะมูลฝอยชุมชนทั้งหมดประมาณ 26.85 ล้านตัน หรือประมาณ 73,560 ตัน/วัน โดยกรุงเทพฯ เป็นแหล่งผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุด ประมาณ 4.19 ล้านตัน (ร้อยละ 16) และทุกจังหวัดรวมกัน 22.66 ล้านตัน (ร้อยละ 84) 

จังหวัดรองจากกรุงเทพฯ คือ ชลบุรี 2,487 ตัน, นครราชสีมา 2,293 ตัน, สมุทรปราการ 2,049 ตัน และขอนแก่น 1,870 ตัน

ข้างต้นเป็นตัวเลขต่อวัน โดยเฉลี่ยเราทุกคนทิ้งขยะวันละ 1.13  กิโลกรัม !

คนทั่วไปอาจคิดว่าแค่ทิ้งขยะลงถัง รอให้รถเก็บขยะมาเก็บก็เท่านั้น

แต่ ชาวบ้านหนองไฮ เทศบาลตำบลบ้านแฮด อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ไม่ได้คิดเช่นนั้น

แม้จะเป็นเพียงชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ แต่พวกเขามีสำนักรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ พิสูจน์ได้จากรางวัลชุมชนปลอดขยะ (ไซส์แอล) สองปีซ้อนคือปี 2558 และ 2559 ซึ่งเป็นการประกวดระดับประเทศ จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

ปี 2560 เทศบาลตำบลบ้านแฮด ภูมิใจนำเสนอ บ้านหนองโง้ง หมู่ 3 เข้าประกวด และผ่านการคัดเลือกรอบแรก ติดอันดับ 1 ใน 51 หมู่บ้านของประเทศ (ไซส์เอส) และได้รับรางวัล วันที่ 5 มิถุนายน 2560

พวกเขาทำได้อย่างไร?

วิทยา ภูโยสาร ปลัดเทศบาลตำบลบ้านแฮด กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาลตำบลบ้านแฮดว่า ให้ชุมชนเป็นตัวตั้ง เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน  ที่ผ่านมาเทศบาลได้ทำโครงการตำบลสุขภาพวะ โดยเน้นการบูรณาการกับภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ ทั้งส่งเสริมให้ชุมชนรับรู้ปัญหา ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา และกลายเป็นชุมชนต้นแบบ ให้ชุมชนอื่นมาเรียนรู้

หนึ่งในนั้นคือ “หมู่บ้านจัดการขยะ” บ้านหนองไฮ

หมู่บ้านนี้มีประชากร 1,198 คน 285 ครัวเรือน ประชากรร้อยละ 90 มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง บางส่วนทำผักสวนครัว อื่นๆ ก็มีพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม พนักงานบริษัท และข้าราชการ

คำพรวน สินธร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 หมู่บ้านต้นแบบปลอดขยะ เล่าถึงที่มาว่าหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในปี 2552 พบว่ามีปัญหาขยะอย่างต่อเนื่อง ปี 2554 ขยะในชุมชนล้นถัง ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง ชาวบ้านร้องเรียน ตนจึงประสานให้เทศบาลตำบลบ้านแฮดมาจัดเก็บ แต่ทำได้ไม่นานขยะก็เต็มอีก

เป็นวงจรที่ไม่รู้จักจบสิ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า…

“ตั้งแต่ผมเข้ามาก็ขอถังขยะจากเทศบาลเพิ่ม พอถังมาก ถนนเริ่มแคบ ผ่านมาสามปี ปัญหามีแต่แย่ลง ทำให้เห็นว่าไม่ได้แก้ปัญหาอย่างถูกวิธี”

ปี 2554  เทศบาลตำบลบ้านแฮดพาผู้สูงอายุ แม่บ้าน อสม.และแกนนำหมู่บ้านไปศึกษาเรื่องวัฒนธรรมประเพณี ขากลับนายกเทศมนตรีตำบลสูงเนิน ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายเทศมมนตรีตำบลบ้านแฮด  ชวนให้แวะรับประทานอาหาร และเล่าถึงหมู่บ้านปลอดถังขยะในตำบล ผู้ใหญ่คำพรวนจึงขอให้นายฯ บ้านแฮดสอบถามวิธีการ

หลังจากนั้นไม่นาน นายกเทศมนตรีบ้านแฮดมีโครงการนำร่องชื่อ “ถนนปลอดถังขยะ” โดยทดลองทำในบ้านแฮด หมู่ที่ 2  ระยะทาง 200 เมตร ผู้ใหญ่คำพรวนชวนคณะกรรมการหมู่บ้านและแม่บ้านไปดูถนนดังกล่าว และกลับมาหารือกันว่าอยากริเริ่มทำในหมู่บ้านหนองไฮบ้าง จึงเสนอเรื่องไปที่นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแฮด และเชิญชาวบ้านมาพูดคุยเพื่อหาแนวร่วม

“ชาวบ้านสนใจ เทศบาลจึงจัดวิทยากรเข้ามาอบรมที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน เพื่อแนะนำการคัดแยกขยะทั้งสี่ประเภทคือ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย ค่อยๆ ให้ชาวบ้านซึมซับและตระหนักถึงความสำคัญ เจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นสิบรอบ บางรอบเน้นแค่แม่บ้าน หรือ อสม.บางรอบก็ทั้งหมด” อัญชนา เตชะอำนวยวิทย์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมกล่าวเสริม

เมื่อประชาชนเริ่มซึมซับ จึงจัดประชาคมรอบใหญ่ คราวนี้เทศบาลพิมพ์ใบสมัครโครงการหมู่บ้านปลอดถังขยะมาแจก มีชาวบ้านกรอกใบสมัครเข้าร่วมถึงร้อยละ 80 ส่วนคนที่ไม่มาต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทของหมู่บ้านที่ไม่มีถังขยะ มีเพียงถุงปุ๋ย 2 ใบ ถังดำ 2 ใบ ไม้กวาดและที่โกยผง

ชุมชนจัดการคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยเก็บขวดพลาสติกใส่ถุงปุ๋ยรอเทศบาลมารับซื้อทุกเดือน ขยะทั่วไปถ้าเป็นถุงพลาสติกให้ล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรวมเก็บไว้ขายให้เทศบาล ราคา กก.ละ 10 บาท สำหรับซองกาแฟ ซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม และอื่นๆ ที่ลักษณะคล้ายกันให้ล้างเก็บไว้ให้คนมีฝีมือด้านงานประดิษฐ์ นำไปสานตะกร้า หรือเครื่องใช้ในครัวเรือน

ขยะอินทรีย์ ใส่ถังดำเพื่อทำเป็นปุ๋ย หากบ้านใดไม่สะดวก ทางผู้ใหญ่ได้จัดทำบ่อกลางไว้รองรับ และทำน้ำหมักจากเศษอาหารที่บ้านของแต่ละคน นำมารวมไว้ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน

ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย และแบตเตอรี่ ต้องเก็บให้มิดชิด โดยแต่ละเดือนเทศบาลจะจัดหาไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และปลากระป๋องมาแลก

ส่วน ขยะติดเชื้อ เทศบาลขอความร่วมมือ อสม.ให้การประสานกับบ้านที่มีผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน ให้เก็บเข็มฉีดอินซูลินไว้ที่บ้าน แล้วรวบรวมส่งที่หน่วยบริการสาธารณสุข

ช่วงแรกที่เทศบาลกำหนดวันรับซื้อและวันแลกขยะ ผู้ใหญ่คำพรวนทำหน้าที่ประสาน หากมีขยะมาก ก็ติดต่อนัดหมายเทศบาล

ปี 2554 หมู่บ้านหนองไฮได้รับทุนสนับสนุน จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 5,000บาท ทั้งยังเข้ารอบการประกวดหมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste ในรอบ 88 ชุมชน ได้รับเงินรางวัล 1 หมื่นบาท

กระทั่งเข้ารอบ 1 ใน 5 ชุมชนสุดท้าย ได้รับรางวัลอีก 2 หมื่นบาท  จึงเกิดบัญชีกองทุนขยะบ้านหนองไฮ

ปี 2559 คณะกรรมการหมู่บ้านได้ไอเดียใหม่ จากเดิมรับซื้อขยะจากชาวบ้าน ก่อตั้งเป็น “ร้านค้าศูนย์บาท” ขึ้นมาแทน โดยนำเงินรับซื้อขยะไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน แล้วให้ชาวบ้านนำขยะมาแลก คณะกรรมการจะเทียบราคาขยะเป็นตัวเงิน แล้วให้ชาวบ้านแลกสิ่งของกลับไป

“เราแบ่งเงินกองทุนเลี้ยงไก่ไข่ 5,000 บาท ทำโรงเห็ด 5,000 บาท ร้านค้าศูนย์บาทอีก 5,000 บาท คนที่มารับผิดชอบสวนนี้ไม่มีรายได้ ยกเว้นไก่ไข่ที่มีระบบว่าไข่ที่ออกมา 5 ฟอง คนเลี้ยงได้ 1 ฟอง ไก่ได้ 2 ฟอง เพื่อหมุนเวียนเป็นค่าอาหาร และชุมชนได้ 2 ฟอง เอามาแลกขยะ ไข่ที่ยังไม่ได้แลก ก็เอามาขาย” คำพรวนกล่าว

เงินที่งอกเงยเพิ่มพูนก็คืนกลับชุมชน ด้วยการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ บริจาคเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล ปีละ 5,00 บาท มอบเป็นทุนการศึกษา และช่วยเหลือลูกบ้านยามประสบภัยพิบัติ รวมถึงพัฒนาหมู่บ้าน

กิจกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างของหมู่บ้านนี้คือ “บ้านล้างถุง”

เหตุผลเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก

ร้านค้าในชุมชนร่วมสนับสนุนกิจกรรมนี้ โดยมีตะกร้าให้ชาวบ้านยืมใส่ของกลับบ้าน หากไม่รับถุงพลาสติกครบ 10 ครั้ง ทางร้านจะแจกถุงผ้าให้ ชาวบ้านที่มีถุงพลาสติกอยู่ ก็ให้ล้างทำความสะอาดแล้วทางเทศบาลจะรับซื้อ

ไม่น่าแปลกใจว่า ที่ราวตากผ้าของชาวบ้าน จะมีถุงพลาสติกแขวนอยู่เต็มไปหมด

ในอนาคตอันใกล้ เทศบาลตำบลบ้านแฮดตั้งเป้าจัดการขยะอินทรีย์ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และต่อยอดไปอีก ๗ หมู่บ้านที่เหลือ

โดยบ้านโง้ง หมู่ 3 เข้าประกวดโครงการหมู่บ้านปลอดขยะ และผ่านการคัดเลือกรอบแรกติด 1 ใน 51 หมู่บ้าน และจะมีการตัดสินรอบชนะเลิศปลายปีนี้

จากหมู่ 4 ขยายไปยังหมู่ 3 นั่นหมายความว่า ชาวบ้านมีความตื่นตัวที่จะพัฒนาชุมชนของตนเอง ขอเพียงมีคำแนะนำและการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้อง

และนั่นเป็นหนึ่งในพันธกิจของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เรามุ่งสร้างวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถใช้ทุนและศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และสร้างสรรค์ ด้วยการจัดการข้อมูลชุมชนในหลากหลายด้าน ซึ่งถือเป็นแก่น และกลไกสำคัญในการเอาพื้นที่เป็นฐานการพัฒนา อันเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ภายใต้อัตลักษณ์และตัวตนของชุมชน” ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.กล่าวในตอนท้าย.-

————————————