ตั้งศูนย์ภัยพิบัติชุมชน รับมือน้ำท่วมใต้


วันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม  2560 มาพร้อมกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ฝนถล่มหนัก 12 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ และหลายพื้นที่น้ำยังท่วมขัง บางจังหวัดเจอน้ำท่วมเกือบตลอดปี

“ธรรมชาติที่เปลี่ยนไป คงหนีไม่พ้นมาจากฝีมือมนุษย์” โกเมศร์ ทองบุญชู  ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ  สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. สรุปบทเรียนให้กับชุมชน โดยเฉพาะในช่วงวันสิ่งแวดล้อมไทยที่ถือโอกาสทบทวนอดีต และมองไปในอนาคต
“ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปตลอด ปัญหาภัยพิบัติก็เพิ่มมากขึ้นล้วนเกิดจากฝีมือของคนทั้งหมด เพราะฉะนั้นคงเรียกร้องให้ใครช่วยเหลือมากไม่ได้นอกจากสร้างสำนึกของตัวเองและชุมชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”

โกเมศร์ บอกว่า บทเรียนของการเผชิญน้ำท่วมในปี 2548 และอีกหลายครั้งทำให้ตระหนักรับรู้ถึง การอนุรักษ์และการเรียนรู้ธรรมชาติ  โดยเฉพาะการพึ่งพาตัวเองของชุมชนทั้งในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการสร้างแผนรับมือภัยพิบัติในชุมชนของตัวเอง

 

ผมตระหนักจากบทเรียนน้ำท่วมครั้งใหญ่หลายครั้งว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การช่วยเหลือตัวเองของชุมชนเพราะกว่าจะท้องถิ่นเท่านั้นที่จะช่วยได้ดีที่สุด

หลังได้สรุปบทเรียน โกเมศร์  ได้ผลักดันให้ชุมชนมีแผนรับมือภัยพิบัติและตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดย ชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เริ่มเป็น นครศรีธรรมราชโมเดล  จัดทำแผนพัฒนารับมือภัยพิบัติในชุมชน และผลักดันให้เกิดการจัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติในระดับตำบลได้สำเร็จ


ปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถผลักดันจัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติในระดับตำบลได้มากถึง 30 ตำบล และสร้างอาสาสมัครในการดูแลภัยพิบัติได้มากกว่า 500 ถึงเกือบ 600 คน

โกเมศร์ บอกว่า สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นสำหรับชุมชนทั่วประเทศคือการสร้างแผนรับมือภัยพิบัติสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมาการผลักดันของชุมชนใน จังหวัดนครศรีธรรมชาติที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ถือว่ามีความสำเร็จมาก เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดให้เป็นนโยบายที่จะสร้างให้เกิดขึ้นในทุกชุมชนโดยกำหนดให้มีศูนย์จัดการภัยพิบัติชุมชน

“ ผมคิดว่าทุกชุมชน ทุกตำบลต้องมีแผนรับมือภัยพิบัติเพราะว่าธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปมาก”

ศูนย์จัดการพิบัติชุมชนจะช่วยให้ชุมชนตระหนักถึงภัยธรรมชาติและพร้อมรับมือได้อย่างถูกต้อง โดยอาสาสมัครจะได้รับการอบรม ในการดูแลพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึง การวางแผนพื้นที่เพื่อรองรับหากเกิดปัญหา ภัยภิบัติขึ้น
ความหวังในวันสิ่งแวดล้อไทย จึงคือความตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสร้างศูนย์ศูนย์จัดการภัยพิบัติชุมชนในทุกตำบล เพื่อให้แต่ละชุมชนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้อย่างเท่าเทียม