ตำบลขับขี่ปลอดภัย ลดเจ็บ เลี่ยงตาย ด้วยพลังท้องถิ่น

ทุก ๆ เทศกาลก็มักจะมีการพูดถึงอุบัติเหตุทางถนนอยู่เสมอ ๆ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ร่วมกันรณรงค์เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วงเวลาดังกล่าวลงให้ได้เช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้น ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก แม้จะลดลงบ้าง แต่เมื่อมองในภาพรวมทั้งปีแล้ว อุบัติเหตุในประเทศไทยยังมีอัตราสูงอยู่ อย่างข้อมูลล่าสุดที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อประชากร 100,000 คนในปี 2564 มากถึง 27.2 ราย

สาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดอุบัติเหตุนั้น ก็ทราบกันดีว่ามาจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย คน ยานพาหานะ และปัจจัยแวดล้อม โดยเฉพาะสาเหตุที่มาจากคนนั้น มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งการเมาแล้วขับ ความประมาทเลินเล่อ ความไม่พร้อมของสภาพร่างกาย รวมถึงความเชื่อและการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ล้วนมีสาเหตุมาจากคนทั้งสิ้น

            หากปลูกสำนึกเรื่องความปลอดภัย โดยให้ตัวเองและยานพาหนะอยู่ในสภาพพร้อมขับ แล้วแก้ไขจุดที่เสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุในชุมชน ก็น่าจะพอช่วยลดการบาดเจ็บล้มตายลงได้ ด้วยเหตุนี้สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สำนัก 10) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการออกแบบและวางแผนขับเคลื่อน “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” โดยชุมชนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และหนุนเสริมเชิงนโยบายระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ

โครงการดังกล่าวนี้ ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วม 108 แห่ง และเมื่อเร็วๆ นี้ทุก อปท.ที่เข้าร่วม ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และประกาศมาตรการของชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน 3 ประการ คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นกลไกหลักในการสร้างการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนให้เป็นรูปธรรม 2.พัฒนารูปธรรมในการจัดการความปลอดภัยทางถนน 5 ด้าน ได้แก่

1) การบริการและช่วยเหลือ 2) การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย 3) การพัฒนาศักยภาพคน รถ ถนน 4) การจัดสภาพถนน และสิ่งแวดล้อม และ 5) การพัฒนานโยบายและแผนที่ปฏิบัติได้จริง และเป็นผลดีต่อการจัดการอุบัติเหตุทางถนนที่มีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐาน “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” และสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงได้อย่างต่อเนื่อง

และ3.มุ่งสร้างความร่วมมือกับ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อจัดการความปลอดภัยทางถนนระหว่างตำบล ระหว่างอำเภอ และระหว่างจังหวัด ให้เกิดการดำเนินงานในการป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีความต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

            ดังนั้นการจะได้ชื่อว่าตำบลขับขี่ปลอดภัย-นั้น อปท.ที่เข้าร่วมโครงการ ย่อมรู้ศักยภาพของตัวเอง และเข้าใจบริบทพื้นที่ของตัวเองดี ว่าจะสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร แต่ทุกๆ พื้นที่มีเหมือนๆ กัน คือสร้างความร่วมมือของ 4 องค์กรหลัก ไม่ว่าจะเป็น ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาชน

อย่างเช่นที่ตำบลสะพานไม้แก่น อ.จะนะ จ.สงขลา พื้นที่นี้อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 15 กิโลเมตร ถนนที่พาดผ่านแม้ไม่ใช่ถนนสายหลัก แต่ก็มีผู้สัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นคนในพื้นที่และเกิดกับผู้ที่ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์

“เพราะทุกคนรู้ว่าออกจากบ้านต้องใส่หมวกกันน็อค แต่ใส่ไว้ในตะกร้าหน้ารถ สุดท้ายก็เกิดอุบัติเหตุขับรถชนเสา ชนป้ายเสียชีวิต” น.ส.เนตรชนก แสงเจริญ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสะพานไม้แก่น บอกและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หมวกกันน็อคนั้น ภาคใต้เรียก “หมวกกันนาย” พอพบตำรวจตั้งด่านก็หยิบมาใส่ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ใช้รถไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง

            ด้วยเหตุนี้ อบต.สะพานไม้แก่นจึงปลูกจิตสำนึกชาวบ้าน แล้วสร้างการมีส่วนร่วม โดยเชิญชวน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่รณรงค์ร่วมกัน โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษา ทาง อบต.ได้จัดอบรมให้ความรู้กับเด็กวัยรุ่น ม.1-3 ให้เห็นความสำคัญของการใส่หมวกกันน็อค ไม่ขับรถเร็ว นอกจากนั้นได้เตรียมความพร้อมกับรพ.สต.ในแนวทางการช่วยเหลือหากเกิดอุบัติเหตุ และยังได้ขอความช่วยเหลือจากผู้นำศาสนาและเจ้าอาวาสในพื้นที่ให้ย้ำเตือนถึงการใช้รถใช้ถนนด้วย

ส่วนที่ตำบลท่าเรือพระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงาน อย่าง สถานีตำรวจ อสม. และโรงพยาบาลมะการักษ์ โดยทางทางเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น รับเป็นตัวหลักในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่นำมาใช้ คือให้เด็กในโรงเรียนไปกระตุ้นเตือนพ่อแม่ให้ใส่หมวกกันน็อก และมีวินัยจราจรให้มากขึ้น

            น.ส.ปุณยวีร์ โพธิพิพิธ นายกเทศมนตรีเมืองท่าเรือพระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ในเขตเทศบาลเมืองฯ มีทั้งหมด 19 ชุมชน จะให้ประธานและคณะกรรมการในพื้นที่คัดเลือกบุคคลเข้ารับการอบรมเรื่องจราจรและการขับขี่ปลอดภัย รวมถึงการทำป้ายรณรงค์ต่างๆ ซึ่งทางเทศบาลได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนมาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้

“แต่สิ่งสำคัญ คือจิตสำนึกของคน เขาต้องมีจิตสำนึกที่ดีและเล็งเห็นถึงความปลอดภัยบน ดังนั้นเราจึงต้องกระตุ้นเตือนซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการข้ามทางม้าลาย การหยุดรถเมื่อเห็นคนข้าม ถ้าเรามีจิตสำนึกที่ดีก็จะลดอุบัติเหตุทางท้องถนนได้” นายกฯปุณยวีร์ กล่าว

ขณะที่พื้นที่ตำบลทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย มีถนนสายสำคัญ คือถนนพหลโยธิน ผ่านเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จึงถือเป็นประตูเข้าสู่เมืองเชียงราย เพราะรถทุกคัน คนทุกคน ต้องผ่านเส้นนี้หมด ดังนั้นอุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อทางองค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาวเข้าร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จึงรวบรวมข้อมูลก่อนจะพบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมเสี่ยง คือดื่มสุรา 21 เปอร์เซ็นต์ เมาแล้วขับ 10 เปอร์เซ็นต์ และไม่สวมหมวกกันน็อค 7 เปอร์เซ็นต์

            นายจีรพงษ์ ใจวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว กล่าวว่า ทาง อบต.ได้ร่วมมือกับ 4 องค์กรหลัก ทำทุกวิถีทางที่จะลดอุบัติเหตุ มีการวิเคราะห์หาสาเหตุ ช่วยกันหาจุดเสี่ยงแล้วปรับพื้นที่ให้มองเห็นได้ชัด ขอรับบริจาคยางรถยนต์เก่า นำมาทาสี ตั้งไว้ที่จุดเสี่ยง นอกจากนี้ยังอาศัยหลักความเชื่อ คือการปักธงแดงบริเวณจุดเสี่ยง ให้เห็นแต่ไกลๆ คนขับมาเห็นก็ต้องชะลอ

“ถนนพหลโยธินพาดผ่านอำเภอพานรวมระยะทางทั้งหมด 33 กิโลเมตร อยู่ในเขตรับผิดชอบของ 10 อปท. เราจึงมีแนวคิดว่าถ้าเราชวนเครือข่ายที่อยู่ตามแนวถนนพหลโยธินทั้งหมดมาร่วมกันออกแบบเพื่อจะลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น ก็จะช่วยจัดการเรื่องอุบัติเหตุในภาพรวมได้เป็นอย่างดี” นายกอบต.ทรายขาว กล่าว

จากตัวอย่างการทำงานของท้องถิ่นทั้ง 3 พื้นที่ เห็นได้ชัดว่า อปท.เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนในชุมชน หมู่บ้าน และช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนได้จริง หากทุก อปท. ทั่วประเทศวางแผนละตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน แห่งละ 1 คน ทางสสส.เชื่อว่าน่าจะช่วยลดการเสียชีวิตได้ปีละกว่า 7,000 คน

            ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. เสริมสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนตำบลขับขี่ปลอดภัยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 108 แห่ง เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ สามารถประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ พร้อมถอดบทเรียนการทำงาน โดยยึดแนวทาง 5 เสาหลัก เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ 1.การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน 2.ถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย 3.ยานพาหนะปลอดภัย 4.ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และ 5.การตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุทางถนน เกิดนโยบายสาธารณะและมาตรการชุมชนท้องถิ่น “ลดเร็ว ลดเสี่ยง เลี่ยงตาย” พร้อมกำหนดเป้าหมายการลดอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 และในวาระปกติของพื้นที่ ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น

            “ถ้าเริ่มต้นที่ 108 พื้นที่ แล้วขยายไปยังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อีกกว่า 3,000 แห่ง เท่ากับว่าเราได้นำแนวคิดและวิธีปฏิบัตินี้ขยายไปได้ 1 ใน 3 ของท้องถิ่นที่มีอยู่ในขณะนี้แล้ว และเมื่อสามพันแห่งของเราจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ อุบัติเหตุก็น่าจะลดลงได้ 1 ใน 3 เช่นกัน” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

          และถึงตอนนั้น อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีตัวเลขเป้าหมาย 12 ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2570 คงไม่ไกลเกินความจริงเท่าใดนัก