ทักษะชีวิตวิถีใหม่ ชุมชนไทยต้อง ‘สร้างอาหารเป็น’

ทักษะชีวิตวิถีใหม่ ชุมชนไทยต้อง สร้างอาหารเป็น

หลัง 4 เดือนที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงต้องเผชิญความวิตกกังวลเรื่องสุขภาพ และปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่หลายชุมชนยังต้องพบกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

ในวันนี้ “การสร้างแหล่งอาหารให้อยู่รอดภายใต้สถานการณ์คับขัน” จึงกลายเป็น อีกหนึ่ง “ทักษะ” สำคัญที่หลายชุมชน ต้องรับมือ มาส่องแนวคิดท้องถิ่น 3 ชุมชนต้นแบบ ที่ได้ผ่านบทเรียนผ่านด่านการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่นช่วงวิกฤตมาแล้ว กับเสวนาออนไลน์ พ้นภัยวิกฤตด้วย “ความมั่นคงทางอาหาร”  จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ชีวิตมั่นคงจากผักข้างบ้านอาหารข้างรั้ว

เสน่ห์ แพงมา ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงตาเจ็น อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า สำโรงตาเจ็น มีการทำงานชูประเด็นความมั่นคงทางอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี และสร้างแหล่ง เรียนรู้ในชุมชน

โดยพื้นที่มีการทำงานได้มีการสนับสนุนให้หมู่บ้านแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เช่น บ้านสนวน หมู่ที่ 12 ถือเป็นบ้านต้นแบบ หรือ หมู่บ้านจัดการตนเอง โดยจะมีการจัดการเรื่องความมั่นคงทางอาหารเช่น ธนาคารข้าว กลุ่มปลูกผัก วิสาหกิจชุมชน แปรรูปอาหาร กิจกรรมอีกหลากหลาย เช่น ส่งเสริมการปลูกผักหลังบ้าน อาหารข้างบ้าน บ้านเหล่านี้ถือเป็นตัวอย่างในการเป็นต้นแบบ เพื่อให้พื้นที่อื่น ๆ หรือหมู่บ้านอื่น ๆ ได้มาเรียนรู้ ศึกษาและนำไปทำต่อที่บ้าน นอกจากนี้อบต.ยังตั้งศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางและเพื่อให้ชาวบ้านได้ตระหนักในการช่วยเหลือตนเอง และพึ่งพากัน

ซึ่งนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตำบลสำโรงตาเจ็น ได้ทำงานอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง  การดูแลบรรเทาความเดือดร้อน ควบคู่ไปกับการดูแลเรื่องความมั่นคงอาหารในชุมชน โดยยังส่งเสริมให้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหารโดยเฉพาะเด็กประถมวัย ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส นอกเหนือจากนั้นยังสนับสนุนด้านอาหารไปยังกลุ่มที่อยู่ในมาตรการกักตัวในพื้นที่ 14 วันด้วย

“ช่วงโควิดมีคนกลับมาบ้านถึง 155 คน ทั้งจากกรุงเทพฯและต่างประเทศ จึงต้องเพิ่มปริมาณอาหาร เราปลูกไผ่ แหล่งเพาะพันธุ์อึ่งอ่าง คนที่กลับบ้านเขาจึงไม่กังวลเรื่องอาหาร ข้างบ้านมีบ่อปลา เล้าไก่  ผักสวนครัว ขณะที่อบต.เองก็มีศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นคลังอาหารให้ชุมชน ผลิตผัก ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ซึ่งช่วงนั้นตลาดก็ปิด รถพุ่มพวง เข้ามาไม่ได้ ค้าขายหยุด ถ้าขาดเหลือ  ไม่มีก็สามารถมาเอาที่ศูนย์ฯอบต.ได้เช่นกัน”

แม้เชื่อว่าสำโรงตาเจ็นมีความเข้มแข็ง แต่ทุกคนไม่ประมาท เตรียมพร้อมทั้งอาหารชุมชน และทำป่าให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร สร้างรายได้ชุมชนภายใต้กติการ่วมกัน

“อนาคตเราก็ไม่มั่นใจว่าจะเกิดวิกฤตอะไรขึ้นอีก แต่ถึงจะมีอะไรก็แล้วแต่ถ้าเรา มีความเป็นอยู่ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้  ช่วยเหลือตนเองได้เราสามารถที่อยู่ได้ อย่างมั่นคง ไม่จำเป็นพึ่งพาโลกภายนอก เราต้องเตรียมพร้อมให้กับครอบครัว ชุมชนปลูกผัก สร้างแหล่งเรียนรู้ พื้นที่สาธารณะ ให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากที่สุด ฉะนั้นการสร้างเศรษฐกิจพอเพียงหรือแนวทางชุมชนเราน่าจะเป็นคำตอบโจทย์ช่วงวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและเราน่าจะ อยู่ได้อย่างมั่นคงได้ในที่สุด” ปลัด อบต.สำโรงตาเจ็นเอ่ย

“วอแก้ว” รับมือ 2 วิกฤต ด้วยเกษตรแบบยั่งยืน

แม้จะไม่ได้อยู่ในระดับพื้นที่สีแดงมีการแพร่ระบาด แต่เทศบาลตำบลวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเรื่องอาหารอย่าง หลีกเลี่ยงได้ยาก นอกจากมาตรการป้องกันโดยการบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้ง 4 ฝ่าย ที่ทำให้พื้นที่สามารถปลอดจากผู้ติดเชื้อยังถือเป็นความโชคดีที่ชาววอแก้วมีการ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต มาสู่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างรวดเร็วก่อนหน้า

ย้อนกลับไป 4-5 ปี ก่อนหน้า ชาวบ้าน เทศบาลตำบลวอแก้ว ทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าวโพดที่ใช้สำหรับทำอาหารสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย แน่นอนว่าหนีไม่พ้น การใช้สารเคมีรุนแรง

จุดเปลี่ยนสำคัญในพื้นที่ ที่นำมาสู่ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้าน เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2558 หลังในพื้นที่ได้มีการ เจาะเลือดเกษตรกร และชาวบ้านในพื้นที่ ผลปรากฏว่าผลเลือดที่มีสารเคมีสะสม ในร่างกายมากถึง 70% และเริ่มมีผลต่อสุขภาพของคนในหมู่บ้าน หลายคน เป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง หรือ โรคเรื้อรังอื่น ๆ

“สถานการณ์ในช่วงเวลานั้น  สร้างความวิตกให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมากถึงภัยอันตรายของการทำเกษตรเชิงเดี่ยว” สายัณห์ ฉัตรแก้ว  หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว กล่าว

เพื่อสนับสนุนประชาชนมีสุขภาพดี เทศบาลจึงร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตร มาเป็นเกษตรแบบอินทรีย์ เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีเกษตรอินทรีย์ กระจายไปทุกหมู่บ้านทั้ง 7 หมู่บ้าน สนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน เมื่อชาวบ้านเริ่มปรับเปลี่ยน หันมาปลูกพืชผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ  ได้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพ สารเคมีสะสมในร่างกายลดน้อยลง และมีความมั่นคงทางอาหาร สามารถลดการพึ่งพาแหล่งอาหารจากข้างนอกที่ส่วนใหญ่ใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากน้อยลง

“ชาวบ้านบางครอบครัวมีที่ดิน 10 ไร่ แบ่งเป็นปลูกข้าวโพด 5 ไร่ และอีก 5 ไร่ เขาปลูกพืชผักทำเกษตรผสมผสานเพื่อไว้สำหรับเป็นอาหารในครัวเรือน ค่อย ๆ  ปรับ เรียนรู้ ผ่านต้นแบบหรือคนที่ประสบความสำเร็จ เพราะต้องยอมรับว่าการจะพูดให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงมาเป็นการทำเกษตรปลอดภัยนั้นยาก แต่หากมีต้นแบบให้เขาได้เห็นที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และ มีข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งทางเราได้มีการทำงานเก็บข้อมูล สถิติเปรียบเทียบการทำเกษตรแบบเชิงเดียวมาไว้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จนเขาเห็นผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ  ลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยยาสารเคมีจำนวนมาก  สิ่งแวดล้อมการปรับเปลี่ยนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเราก็ตั้งเป้าที่จะทำงานต่อเนื่องขยายไปเรื่อย ๆ ในพื้นที่เพื่อพลิกฟื้นการเกษตรสารเคมีให้เป็นแปลงเกษตรรักษาสุขภาพ ขณะนี้เรียกว่ามากกว่า 60% ในพื้นที่แล้ว” หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลวอแก้ว อธิบายถึงการดำเนินการในพื้นที่

เมื่อมาเจอสถานการณ์ปัญหาไวรัส โควิด-19 พวกเขาจึงมีต้นทุนทางอาหาร เป็นพื้นฐานในครัวเรือนและสามารถมีชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน เมื่อเทียบกับอีกหลายๆ พื้นที่ในประเทศ ที่สำคัญยังจุดประกายคนรุ่นใหม่ หลายคนกลับมาบ้านในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ได้สัมผัสชีวิต ที่มีหลังพิง มีอาหารการกินที่ปลอดภัย  จึงเลือกที่จะปักหลักอยู่บ้านกลับมารับช่วงทำเกษตรอินทรีย์ของพ่อแม่ เพราะมองว่ามั่นคงกว่ากลับไปทำงานในเมืองใหญ่  ที่ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไหร่

“ผมคิดว่าบทเรียนจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 และบทเรียนจากการเผชิญสถานการณ์ภัยสารเคมีเมื่อหลายปีก่อน  2 วิกฤตนี้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ตระหนักและได้บทเรียนสำคัญในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในครอบครัว และหันมาทำ เกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน โดยชาวบ้าน บอกว่า การทำเกษตรอินทรีย์มันไม่ใช่ ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว แต่มันทางรอดสำหรับเขาทั้งสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ ขณะเดียวกันในส่วนของท้องถิ่น เราพร้อม ที่จะเดินหน้าขยายผลเพิ่มพื้นที่เกษตร ปลอดสารเคมีให้เพิ่มขึ้นทุกปีต่อไป” สายัณห์เอ่ย

สุขภาพ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต อาหาร และประชาธิปไตย ต้องไปด้วยกัน

หลายปีก่อนหน้านี้ ได้มีการตรวจสารเคมีในกระแสเลือดของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก พบว่า 80% ของประชาชนที่เข้ารับการ สุ่มตรวจมีสารเคมีสะสม รวมถึงกลุ่มอื่น ๆ  ด้วยที่ไม่ใช่เกษตรกรโดยตรง เช่น นักเรียน เด็ก พระ ผู้สูงอายุ ก็มีสารเคมีสะสมในร่างกายเช่นเดียวกันทั้งที่กลุ่ม ๆ นี้เรียกได้ว่า ไม่ได้สัมผัสสารเคมีโดยตรง ใช่แล้ว แต่พวกเขาได้รับทางอ้อมนั้นคือการกินอาหาร ที่ปนเปื้อนสารเคมี

ณัฐวุฒิ ใจดี รองปลัดเทศบาลตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก  กล่าวว่า เทศบาลตำบลไทรย้อย ทำงานภายใต้นโยบายหลัก 5 ด้าน นั้นคือ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต อาหาร และประชาธิปไตย ต้องไปด้วยกัน โดยความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของการทำงานในพื้นที่

“ทั้งนี้ทางเทศบาลได้มีการดำเนินการสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยมีพื้นที่กว่า 50 ไร่ในพื้นที่หมู่ที่ 9 มีแปลงสาธิตการเกษตร โดยการทำงานเทศบาล จะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุเป็น ผู้เข้ามาถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำเกษตรดั้งเดิมที่ปลอดสารเคมี หรือการทำนาแบบดั้งเดิมให้กับคนในพื้นที่”

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พื้นที่ตำบลไทรย้อยพบว่าไม่มี ผู้ติดเชื้อ แต่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในอำเภอเดียวกันมีผู้ติดเชื้อ เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ในพื้นที่ได้มีนโยบายและมาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันยังขับเคลื่อนในประเด็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและเรื่องสุขภาพ ผ่านกองทุนสุขภาพ ภายใต้การทำงานของ รพ.สต.และภาคีเครือข่ายในพื้นที่

โดยผลผลิตจากศูนย์เรียนรู้ฯ เช่น ข้าวสารปลอดสารพิษ ที่ได้มาจะส่งต่อไป ยังองค์กรพัฒนาผู้สูงอายุ และองค์กร ผู้พิการ ซึ่งจะมีกิจกรรมเยี่ยมบ้าน ไปแจกจ่าย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ยังนำผลิตผลที่ได้จากตรงนี้ไปช่วยใน งานบุญ หรือ งานศพ รวมถึงยังมีโครงการปลูกผักหน้าบ้านหลังบ้าน โดยจะมีการประกาศนำร่องผู้สนใจเบื้องต้น 30 ครัวเรือน ปัจจุบันพื้นที่มีการขยายผลประมาณ 1,700 ครัวเรือน

“เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ไทรย้อยจึงแทบจะไม่ได้รับผลกระทบ หรือความเดือดร้อนมากนัก เพราะมีฐานความมั่นคงทางอาหารอยู่แล้ว แต่เพื่อสร้างการเรียนรู้และช่วยกันไปขยายการเรียนรู้  ไทรย้อย จะทำงานสร้างคนรุ่นใหม่ โดยมีคนรุ่นเก่ามาปลูกฝังทำระบบเกษตรกรรมให้เปลี่ยนมาเป็นเดินตามแนวทางศาสตร์ พระราชา สร้างปรับพื้นที่เกษตรกรรม ให้มีความหลากหลายต่อไป” รองปลัดเทศบาลตำบลไทรย้อยกล่าว

สร้างอาหารเป็น เมื่อวิกฤตมาจะไม่ลำบาก

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส.และรักษาการผู้อำนวยการสำนัก กล่าวว่าประเทศไทยถือว่ามีชุมชนเป็นฐานที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แม้ขณะนี้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่จะไม่ได้ดำเนินการเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารทั่วประเทศ แต่ก็ถือว่ามีการขยายและเดินหน้าทำเรื่องนี้กันอย่าง ต่อเนื่องผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  ยิ่งในสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ยิ่งเป็น เรื่องสำคัญ

ทักษะชีวิตใหม่ ต้องสร้างอาหารเป็น เมื่อวิกฤตมาจะไม่ลำบาก เรามีพื้นที่เกษตรมีต้นทุนอยู่แล้ว ฉะนั้นทั้ง 3 พื้นที่ เป็นแบบที่ทำให้เห็นภาพชัดเจน ที่เน้นครัวเรือนทำอาหารผลิตเอง กินเอง เน้นให้ชุมชนมีพื้นที่สร้างอาหารเพื่อเติมส่วนขาดในครอบครัว และตำบลมีหน้าที่กระตุ้น มีการสร้างศูนย์เรียนรู้เต็มพื้นที่ เพื่อที่จะทำเรื่องความมั่นคง ทางอาหารไปพร้อมกับการค้นหาความรู้จากการได้ปฏิบัติ นอกจากนี้ทั้ง 3 พื้นที่มีสิ่งที่เหมือนกันคือ เป้าหมายตำบลชัดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทุกภาคส่วนเลยร่วมกันขับเคลื่อนพุ่งเป้าไปตรงนั้นเป็นตัวเสริมที่ทำให้ 3 พื้นที่เป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางอาหารและสามารถสร้างเศรษฐกิจได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 แม้ว่ารายได้ จะไม่เท่าเดิมแต่ก็มีทางออกในการหารายได้ และพึ่งพาตนเองได้อย่างไม่ลำบาก” รักษาการผู้อำนวยการสำนัก 3 กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส