“น้ำครึ่งแก้ว” ไร่นาสวนผสม เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืน

“น้ำครึ่งแก้ว” ไร่นาสวนผสม เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืน
.
ไร่นาสวนผสม “น้ำครึ่งแก้ว” ที่ ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ คือ การผลิตหลายสิ่งหลายอย่างในพื้นที่นาผืนเดียวกัน เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าว แบ่งพื้นที่ไว้ปลูกพืชผักสวนครัวและพืชไร่ เลี้ยงสัตว์บนคันดิน มีการผลิตพลังงานใช้เอง ทั้งพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ และพลังงานแก๊สชีวภาพจากบ่อกำจัดมูลสัตว์
.
“น้ำครึ่งแก้ว” เกิดขึ้นจากความคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่ของครอบครัวของ “นายชณภพ ไกรศักดิ์” จากเดิมที่เคยปล่อยให้เช่าที่นา แล้วเก็บข้าวจากผู้เช่าเป็นผลตอบแทน กลับได้แต่ข้าวจำนวนน้อยที่ไม่ได้คุณภาพ แถมยังเสี่ยงต่อการมีสารพิษตกค้างในร่างกาย “นายชณภพ” จึงตัดสินใจลงมือปลูกข้าวแบบปลอดสารเคมีด้วยตนเองแทน
.
“นายชณภพ” เริ่มศึกษาการเกษตรผสมผสาน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แล้วเริ่มลงมือทำไร่นาสวนผสมขึ้น จนกลายมาเป็น “น้ำครึ่งแก้ว” ไร่นาสวนผสมที่มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนในตัวเอง เพราะกิจกรรมทุกอย่างภายในผืนนาแห่งนี้ ต่างก็เกื้อกูลและเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน จน “นายชณภพ” สามารถเปลี่ยนผืนนาที่เคยขาดทุนให้กลายเป็นรายได้และความสุขของคนในครอบครัวได้
.
ภายในไร่นาสวนผสม “น้ำครึ่งแก้ว” จะแบ่งพื้นที่ออกดังนี้
1. ปลูกข้าวอินทรีย์และพืชไร่ สลับกับการปลูกต้นทานตะวัน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน และผลิตอาหารสัตว์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามฤดูกาล
2. ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาทดแทนไฟฟ้าที่มีค่าใช้จ่ายสูง
3. ปลูกไม้ยืนต้นผสมกันหลายชนิด เช่น ต้นกล้วยน้ำว้า มะม่วง มะละกอ ขนุน ต้นสักทอง
4. เลี้ยงปลาในสระ เพื่อสร้างรายได้อีกทาง
5. เลี้ยงไก่ไข่แบบเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยวิธีแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ปล่อยในธรรมชาติ ให้พืชผักในไร่นาเป็นอาหาร เพื่อให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพและปลอดสารพิษ
6. เลี้ยงหมูในสวน โดยนำมูลของหมูมาผลิตเป็นแก๊สชีวภาพแทนการซื้อแก๊สหุงต้มเป็นถัง
.
ผลที่เกิดขึ้นคือ ไร่นาสวนผสม “น้ำครึ่งแก้ว” กลายเป็นพื้นที่ผลิตพืชผลที่มีคุณภาพ ส่งออกได้ราคา ทั้งยังมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สามารถต่อยอดการผลิตได้เรื่อย ๆ สร้างรายได้ทวีคูณ อีกทั้งครอบครัวของเกษตรกรยังมีสุขภาพแข็งแรง เพราะได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ปราศจากสารเคมี
.
#วันพืชมงคล
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส