ผลงานเด่นในรายงานประจำปี ๒๕๖๓ สำนัก ๓   แผน สุขภาวะชุมชน “ตำบลสายพันธุ์ใหม่”

ผลงานเด่นในรายงานประจำปี ๒๕๖๓  

สำนัก ๓                  แผน สุขภาวะชุมชน

เรื่องที่ ๑  ตำบลสายพันธุ์ใหม่

 

สถานการณ์/ที่มา/ความสำคัญ

จากเจตนารมณ์ของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพที่ว่า Engage non health sectors to address health หรือ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่ไม่ใช่สุขภาพโดยตรงเข้ามาจัดการกับสุขภาพ ทำให้ตลอดระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓) หรือ แผนสุขภาวะชุมชนได้มุ่งมั่นสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว โดยเสริมสร้างศักยภาพให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนขยายผลจากตำบลหนึ่งเป็นเครือข่ายตำบล สานเป็นเครือข่ายอำเภอ สานเป็นเครือข่ายภาค และสานเป็น “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” ที่กระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสำนัก ๓ ได้ดำเนินการภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๖ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะสนับสนุนให้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนภายใต้การผนึกกำลังกันของ ๔ องค์กรหลักในพื้นที่ ประกอบด้วย ท้องถิ่น ท้องที่ องค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ พร้อมกับส่งเสริมให้ใช้ทุนทางสังคมและศักยภาพของพื้นที่ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ โดยชุมชนเอง ภายใต้ความเชื่อที่ว่าทุกคนล้วนมีศักยภาพ มีความชำนาญ และมีความเชี่ยวชาญที่จะจัดการตนเองและก่อประโยชน์ได้อย่างมหาศาล

จากการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นเวลา ๑๐ ปี ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศให้ใช้ทุนทางสังคมและสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่นจนเกิดการบริหารจัดการในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเพิ่มสมรรถนะผู้นำ สร้างสรรค์การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จนได้นวัตกรรมที่สร้างผลกระทบหลายด้าน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับทุนทางสังคมอื่นๆ มาจัดการปัญหาในพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการยอมรับจากองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นถึง ๓,๑๙๐ ตำบล (ร้อยละ ๔๐ ขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด) และค้นพบว่าในแต่ละพื้นที่มีทุนทางสังคมได้มากถึง ๑๑๐ ทุนต่อตำบล มีผู้นำชุมชนท้องถิ่นอย่างน้อย ๒๐๐ คนต่อตำบล จนเกิดเป็นโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมขนาดใหญ่ที่มีทุนทางสังคมมหาศาลกว่า ๓๕๐,๐๐๐ ทุน และมีผู้นำชุมชนท้องถิ่นกว่า ๖๓๘,๐๐๐ คน

เวลานับทศวรรษของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้สำทับและปรับเปลี่ยนการดำเนินงานจนเรียกได้ว่า มี DNA เดียวกัน เป็น “ตำบลสายพันธุ์ใหม่” ซึ่งเป็นตำบลที่มีความสามารถในการปรับตัวและตั้งรับกับทุกๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะวิกฤตเพียงใดก็รับมือได้ จนเกิดเป็น “วิถีใหม่ของชุมชนท้องถิ่น” ที่มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ให้ขจัดปัญหาของท้องถิ่น จัดการปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพได้ และเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

บทบาท และกลไกการดำเนินงานของ สสส.

สสส. โดยแผนสุขภาวะชุมชนจะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายด้วย ๒ หลักการ คือ ๑.การใช้พื้นที่เป็นฐานการพัฒนา และ ๒.การคำนึงถึงสุขภาพในทุกนโยบาย (รวมทุกงานและกิจกรรม) โดยน้อมนำ “ศาสตร์ของพระราชา” มาเป็นหลักในการดำเนินงาน ประกอบด้วย “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ระเบิดจากข้างใน” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

หลักการว่าด้วยการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area Base Development : ABD) ในหลักการนี้ อยู่บนฐานการยอมรับ ว่าคนทุกคนมีศักยภาพ เมื่อคนมารวมกลุ่มกันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เหล่านี้เรียกว่า “ทุนทางสังคม” หากท้องถิ่นไหนมีทุนทางสังคมมาก ก็จะเกิดผลดีตามมามากมาย ทั้งก่อให้ เกิดการเรียนรู้ รับรู้ และส่งผ่านข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ทำให้เกิดคุณค่าบางอย่างที่สามารถยึดโยงและยอมรับร่วมกันได้ ทั้งนี้เป็นไปตามสภาพโครงสร้าง องค์ประกอบ ศักยภาพคน ทรัพยากร ข้อมูลและลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของพื้นที่ ซึ่งการใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนานี้ จึงเสมือนการใช้พื้นที่เป็นห้องปฏิบัติการทางนโยบาย หรือที่เราเรียกกันคุ้นเคยว่า policy lab ในการขับเคลื่อนและขยายผลนั่นเอง

ส่วนหลักการที่ว่าด้วยการคำนึงถึงสุขภาพในทุกนโยบาย –ทุกงานและกิจกรรม (Health in All Policies : HiAP) หมายถึง “ทำกิจกรรมหรือกิจการใดๆ ก็ตามจะต้องถามตนเอง ครอบครัว และชุมชน เสมอว่า แล้วเป็นผลดีการมีสุขภาพที่ดี ทั้งกาย จิต สังคม และปัญญา อย่างไร” หากผลดีไม่มากพอก็จะต้องปรับให้ได้ หรือในทางวิชาการมักใช้คำว่า “ผลกระทบทางสุขภาพ” ซึ่งแผนสุขภาวะชุมชน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ถอดองค์ความรู้จากการปฏิบัติของชุมชนท้องถิ่นมาเป็นตัวกำหนดหลักในการพัฒนา หรือ ชุดองค์ความรู้และแนวทางการจัดการปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและปัจจัยส่งเสริมสุขภาพ ที่ใช้รณรงค์และขับเคลื่อนสำหรับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

แผนสุขภาวะชุมชนสนับสนุนให้ตำบลสุขภาวะ ดำเนินงานใน ๖ กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย ๑) การพัฒนาระบบการจัดการพื้นที่ ๒) การศึกษาวิจัยชุมชน ๓) การจัดการเรียนรู้ ๔) การพัฒนานวัตกรรม ๕) การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และ ๖) การพัฒนาระบบสื่อสารและรณรงค์ โดยใช้ทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่กับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการจัดการพื้นที่ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อสุขภาวะ โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อร่วมสร้าง “ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” และ “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง” จนเกิดเป็น “ตำบลสายพันธุ์ใหม่” ครอบคลุม ๔ ภาค

กรณีตัวอย่างของตำบลที่มีการดำเนินการอย่างชัดเจนในปี ๒๕๖๓ ประกอบด้วย ๑) ภาคเหนือ ได้แก่ เทศบาลตำบลแม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่  ๒) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ๓) ภาคกลาง ได้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม และ ๔) ภาคใต้ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส โดยมีรายละเอียดดังนี้

๑. ภาคเหนือ ได้แก่ เทศบาลแม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

เทศบาลตำบลแม่ข่า มีประชากรผู้สูงอายุ จำนวน ๑,๖๘๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๒.๑๕ จากประชากรทั้งสิ้น ๗,๖๑๒ คน เริ่มมีการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ เกิดเป็นชมรมผู้สูงอายุ ๑๓ หมู่บ้าน และโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลแม่ข่า โดยความร่วมมือของ ๔ องค์กรหลักและภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในพื้นที่ ต่อมาได้เข้าร่วมเครือข่ายตำบลสุขภาวะกับศูนย์จัดการเครือข่ายเทศบาลตำบลน้ำแพร่พัฒนา และนำข้อมูล TCNAP และ RECAP ไปวางแผนพัฒนาพื้นที่ จนทำให้พื้นที่เป็น “ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน ด้านการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น” เกิดนวัตกรรม หลักสูตร และมี “ธรรมนูญสุขภาพดี วิถีแม่ข่า” ที่ร่วมกันกำหนดและปฏิบัติจนเป็นวิถีชุมชน

วิถีการทำงานใหม่ของคนตำบลแม่ข่า ใช้หลักระบบการบูรณาการขับเคลื่อนชุมชนแบบมีส่วนร่วม ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยใช้แนวคิด “บ ว ร ส + ค”  คือ บ้าน วัด โรงเรียน สาธารณสุข เครือข่าย และองค์กรเพื่อบูรณาการขับเคลื่อนชุมชน (อบช.) ตำบลแม่ข่า ที่ร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง ร่วมสุขด้วยกัน จนสามารถขยายผลไปยังเครือข่ายกว่า ๑๕ ตำบล เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นด้วยกัน ๕ เรื่อง ประกอบด้วย การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน การแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรและแอลกอฮอล์ ปัญหาบุหรี่และสารเสพติด ด้านการจัดการขยะ และด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยใช้ประสบการณ์และจุดแข็งของตำบลแม่ข่า เป็นแนวทางในการพัฒนาและเรียนรู้ร่วมกัน

จากสถานการณ์ COVID-19 ในปี ๒๕๖๓ นำไปสู่การเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนตำบลแม่ข่าอย่างขนานใหญ่ เกิดผลกระทบต่อคนในตำบลแม่ข่าอย่างกว้างขวาง แต่ด้วยประสบการณ์การทำงานของภาคีเครือข่ายในชุมชน ประกอบกับการสนับสนุนจากสำนัก ๓ สสส. นำไปสู่การตั้งรับปรับตัวและจัดการวิกฤติด้านสุขภาพในพื้นที่ ๔ ประเด็นสำคัญ คือ ๑) การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อโดยคณะกรรมการระดับชุมชน และทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดกติกาและมาตราการร่วมกัน ๒) พัฒนาศักยภาพคนทำงานและเครื่องมือ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมป้องกันโรค ๓) จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ทุกคนในตำบลแม่ข่า ได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน หลากภาษา และถูกต้อง ๔) บูรณาการด่านชุมชนร่วมกันของท้องที่ ท้องถิ่น โดยปรับแผนจากด่านปลอดภัยในชุมชน มาเป็นด่านคัดกรอง กักกัน และเฝ้าระวังโรค COVID-19 ในถนนสายหลักของอำเภอ และถนนสายรอง นำไปสู่การไม่มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่

จากที่กล่าวมาข้างต้น เทศบาลตำบลแม่ข่า ตำบลสายพันธุ์ใหม่ บนฐานคิด “บ ว ร ศ + ค” จึงเป็นวิถีที่สำคัญ ในการร่วมกันจัดการปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว สามารถตั้งรับปรับตัวจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ด้วยพื้นฐานการจัดการตนเองอย่างเป็นระบบ และบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกของสถานการณ์อย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพบนฐานของทุนทางสังคมและทรัพยากรที่มีคือ คน กลไก และข้อมูล

ชาวตำบลแม่ข่า ร่วมกันฝ่าวิกฤติ พิชิต COVID-19 ตั้งด่านชุมชนบ้านหล่ายฝาง คัดกรอง กักกัน และเฝ้าระวังโรคเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓

๒. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

มะเกลือใหม่เป็นตำบลน่าอยู่ มีทรัพยากรที่หลากหลาย โดยตำบลตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ด้วยการนำใช้ข้อมูลและสร้างระบบการจัดการตนเอง จึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ในฐานะสมาชิกเครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบลอีเซ อำเภอโพธิ์สุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษในปี ๒๕๕๗ และจากความพร้อมของผู้นำฝ่ายท้องที่ ท้องถิ่น บุคลากร และข้าราชการประจำ ที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการจัดการพื้นที่ที่เกิดจากการค้นหาทุนและศักยภาพ โดยใช้เครื่องมือวิจัยชุมชน (RECAP) และการพัฒนาระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) ทำให้ตำบลมะเกลือใหม่สามารถพัฒนาขึ้นเป็น “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” ในปี ๒๕๖๑

จากความต้องการที่หลากหลายของคนในตำบล ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือใหม่ ดำเนินการ “๑ แผน ๑ ตำบล” (One Plan One Tambon) โดยการนำข้อมูลจากระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) การวิจัยชุมชน (RECAP) ข้อมูลของ อบต. (กชช.๒ค) ข้อมูลจาก รพสต. และ ข้อมูลจาก จปฐ. มาสังเคราะห์ ตรวจสอบ แล้วกำหนดแนวทางการพัฒนา ปรากฏว่าในปี ๒๕๖๒ ชุมชนต่างๆ ในตำบลเสนอโครงการต่อ อบต.จำนวน ๔๒ โครงการ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และเมื่อมีการทบทวนข้อมูล ด้วยการแสดงสถานะและสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วนของชุมชน จึงเกิดการเรียนรู้และจัดลำดับของปัญหา ทำให้พบว่ากิจกรรมหรือโครงการที่ชุมชนสามารถทำเองได้นั้น ก็สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ เช่น โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน และโครงการสร้างอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้เกิดการพัฒนา โดยใช้คน กลไก และข้อมูลเป็นเครื่องมือในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เป็น “วัฒนธรรมใหม่” ของชุมชนท้องถิ่นที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปี ๒๕๖๓

อีกงานเด่นที่ อบต. มะเกลือใหม่ให้ความสำคัญ คือ การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดอุบัติเหตุจราจร เนื่องจากเส้นทางที่ยาวที่สุดของตำบลจากเหนือจดใต้ ๒๕ กม. คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) และ ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๔ (โชคชัย-เดชอุดม) มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และสาเหตุมักจะมาจากเมาแล้วขับ ดังนั้นหน่วยงานท้องถิ่นจึงต้อง “ดูแลความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่” จากข้อมูลตำบลที่สำรวจ พบว่า คนในตำบลมะเกลือใหม่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี ๒๕๖๑ จำนวน ๒๙๒ คน คนเหล่านี้คือกลุ่มเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจราจร ทางอบต. มะเกลือใหม่จึงได้นำหลักการ “๔ สร้าง ๑ พัฒนา” เข้าไปควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยหนุนเสริมการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบในพื้นที่ จนเกิดการพัฒนาศักยภาพกลไกการทำงานของ ๔ องค์กรหลัก และเกิดมาตรการทางสังคมทั้งระดับครอบครัว ชุมชน และตำบล ในการลด งด เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรลงลงจาก ๓๒ รายต่อปี เหลือ ๒๖ ต่อปี (ปี ๒๕๖๒) และไม่มีผู้เสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุเลย

ผลจากการพัฒนาและนำใช้ข้อมูลสู่การจัดการตนเอง ปี ๒๕๖๓ ชาวตำบลมะเกลือใหม่จึงเชื่อมั่นในการ “พัฒนาและการนำใช้ข้อมูล” โดยใช้พื้นที่เป็นตัวฐาน จนเกิดการขยายรูปธรรมการทำงานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายจำนวน ๑๒ อปท. โดยอยู่ในอำเภอสูงเนิน จำนวน ๕ แห่ง และต่างอำเภอ จำนวน ๗ แห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่จัดการตนเองได้

การเก็บข้อมูลตำบลเพื่อให้เห็นสถานการณ์ในพื้นที่ อบต.มะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

๓. ภาคกลาง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม

องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลพื้นที่ ๒ ตำบล จำนวน ๑๓ หมู่บ้าน และเป็นตำบลที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ซึ่งในอดีตมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาจากปัจจัยทางธรรมชาติและจากมนุษย์ คือ ความสกปรกของแม่น้ำ ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาด้วยการทำความสะอาดแม่น้ำลำคลองตามโอกาสและเทศกาลสำคัญโดยจิตอาสาเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเท่าที่ควร ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น ได้มีนโยบายคลองสวยน้ำใส ทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ผู้นำ และแกนนำใน ๒ ตำบลจึงตกลงร่วมกันที่จะเชื่อมความสามัคคีและสร้างจิตอาสาระหว่าง ๒ ตำบล ผ่านกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” แต่ดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น ยังไม่เพียงพอ ต้องทำให้เกิดความยั่งยืน

หลังจากอบต.บางคนที เข้าร่วมเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เมื่อปี ๒๕๕๕ ได้เรียนรู้ร่วมกับตำบลอื่นๆ รู้จักการนำใช้ระบบข้อมูลตำบล TCNAP การวิจัยชุมชน RECAP โดยการมองเห็นทุนและศักยภาพของตนเอง และนำมาจัดการตนเอง ต่อยอดงาน สร้างการเรียนรู้ให้ ๔ องค์กรหลัก เกิดการบูรณาการ และนำมาปรับใช้กับกิจกรรมต่างๆ ของตำบล เช่น (๑) กิจกรรมลงแขกลงคลอง ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญและต้องร่วมกันดูแลรักษา โดยจัดให้เป็นกิจกรรมประจำเดือนที่คนทุกกลุ่มมาช่วยกัน และนำสู่ความรักความสามัคคีของ ๒ ตำบลตามหลักยุติธรรม (๒) การดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการจากการสำรวจชุมชน (๓) การต่อยอดกิจกรรมอื่นๆ ด้วยการสร้างความร่วมมือและชักชวนเข้าร่วมกิจกรรม เป็นต้น จากนั้นตำบลบางคนทีได้กลายมาเป็นต้นแบบด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ชัดเจนกว่าคือ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในชุมชนกลับมาสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารให้คนในชุมชน ชาวบ้านมีจิตสำนึกรักท้องถิ่น การเข้าร่วมกิจกรรม เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ชุมชนมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดสังคมการแบ่งปัน เมื่อมีกิจกรรมเพื่อสาธารณะทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น

ผลจากความสำเร็จต่อยอดสู่ความมั่นคงทางอาหาร โดยการส่งเสริมและรณรงค์ให้ปลูกผัก ทำการเกษตรในชุมชน การเลี้ยงปลา และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 ในปี ๒๕๖๓ ทางตำบลได้จุดประกายแนวคิดการจัดตลาดกลางแลกเปลี่ยนสินค้าในหมู่บ้านโดยปราศจากตัวเงินคือ “ปันผัก ปันสุข” ที่เป็นการแลกเปลี่ยนอาหารที่ชาวบ้านปลูก หรือเก็บจากริมคลอง เอามารวมกัน และให้คนในชุมชนมาหยิบเอาไปได้ตามความเหมาะสมของสมาชิกในครอบครัว พร้อมกับสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนโดยใช้ข้อมูล ทุนและศักยภาพ ความสามารถของคนในชุมชนที่มาจากการเรียนรู้ และได้รับการหนุนเสริมจาก สสส. ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ได้ว่าทรัพยากรทุกๆ ด้านในชุมชนเพียงพอต่อการดำเนินชีวิต มีความเข้มแข็ง และสามารถจัดการตนเองได้ในช่วงวิกฤติ ส่งผลให้ประชาชนในตำบลเกิดความรัก ความสามัคคี เกิดเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน

๔. ภาคใต้ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส

พื้นที่ตำบลแว้ง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เป็นชนบทกึ่งเมือง เกื้อกูลกันตามวิถีศาสนาอิสลาม ที่กำลังจะกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ความเป็นวิถีดั้งเดิมลดลง กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๕๕ องค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง (อบต.แว้ง) ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายตำบลสุขภาวะ ดำเนินการพัฒนาตำบลแว้ง ผ่านกลไก ๔+๑ องค์กรหลัก (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ (ฝ่ายปกครอง) องค์กรชุมชน หน่วยงานรัฐ และองค์กรศาสนาในพื้นที่) การพัฒนาศักยภาพพื้นที่โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ประกอบด้วย ๕ นักสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ๑) นักบริหารและแกนนำชุมชน ๒) นักวิชาการ (การทำวิจัยชุมชน) ๓) นักจัดการข้อมูลตำบล(ระบบข้อมูลตำบล ๔) นักสื่อสาร และ ๕) นักจัดกระบวนการ ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการวิจัยชุมชน (RECAP) และระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) ทำให้ตำบลแว้งได้เห็นทุนทางสังคมและศักยภาพของตำบลแว้งอย่างชัดเจน

ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ อบต.แว้งทำหน้าที่เป็นศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) ได้ต่อยอดทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัยในพื้นที่ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นอย่างชัดเจนผ่านกระบวนการบริหารจัดการทุนทางสังคมของตำบลแว้ง โดยมี อบต.แว้ง เป็นองค์กรเชื่อมประสานการมีส่วนร่วมภายใต้หลักการ คือ ๑) หลักศาสนานำปฏิบัติการ ๒) ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ๓) ธรรมาภิบาล ๔) พัฒนาเครือข่าย และ ๕) การนำใช้ข้อมูล โดยสะท้อนออกเป็นรูปธรรมของงานพัฒนาในพื้นที่ อาทิเช่น การพัฒนามัสยิดปลอดบุหรี่ โดยใช้หลักการทางศาสนา และผู้นำศาสนา เป็นผู้นำเชิญให้คน ลด-ละ-เลิกการบริโภคยาสูบ การดูแลกลุ่มเปราะบางในสังคม (การดูแลผู้ป่วยจิตเวช) การดูแลเด็กปฐมวัย เป็นต้น
ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ ตำบลแว้งได้ทบทวนการทำงานตำบลสุขภาวะตำบลแว้ง ได้ยกระดับพื้นที่การเรียนรู้สู่การเป็น “ศูนย์เชี่ยวชาญการสร้างโอกาสทางสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุข” ได้สรุป ๕ รูปแบบงานในการสร้างโอกาสทางสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุขได้ คือ ๑) การจัดสวัสดิการสังคมในชุมชนเพื่อสร้างหลักประกันทางสังคม ๒) การส่งเสริมการดูแล ๑๓ กลุ่มประชากรเพื่อเพิ่มบริการและแก้ปัญหาสุขภาพ ๓) การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสร้างโอกาสให้บุคคลมีศักยภาพในการจัดการตนเองได้ทุกช่วงวัย ๔) การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอันจะนำไปสู่การขจัดความยากจนและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี และ ๕) การสร้างจิตอาสา รวมทั้งเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

 

 

 

 

 

 

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปี ๒๕๖๓ อบต.แว้ง ทำหน้าที่หนุนเสริมการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โดยการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับกักตัว ๑๔ วัน (Local Quarantine) ให้แก้ผู้ที่มีความเสี่ยง การป้องกันและดูแลสถานที่ ออกมาตรการในการเดินทางหรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน และเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของอำเภอแว้ง และจังหวัดนราธิวาส อบต.แว้ง จึงเป็นหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นตำบลจัดการตนเอง โดยมีความเด่นด้านการสร้างโอกาสทางสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและพื้นที่ทั้งในยามสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์วิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ