รับมือ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ด้วยวิถีการเกษตรชุมชน

รับมือ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ด้วยวิถีการเกษตรชุมชน
.
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ในการจัดการให้ภาคเกษตรมีความยั่งยืน มี ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพิงได้เมื่อเกิดภาวะวิกฤต
.
‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ถูกพูดถึงครั้งแรก ในงาน World Food Summit เมื่อปี 1996 โดยระบุไว้ว่า ความมั่นคงทางอาหาร จะมีได้ก็ต่อเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ ปลอดภัย ในปริมาณที่พอเพียงกับการดำรงชีวิต และมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงได้ตลอดเวลา สมกับร่างกายและฐานะที่มีอยู่
.
การสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นในชุมชน จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกท้องถิ่นต้องการ แล้วแต่ละชุมชน มีวิธีสร้าง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ อย่างไรกันบ้าง?
.
เริ่มจาก อบต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ที่มีการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร จากเดิมที่มีการใช้สารเคมีในการปลูกพืช ก็เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เพื่อสร้างเกษตรแบบยั่งยืน โดยทางชุมชนได้จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทนการใช้สารเคมีอีกด้วย
.
ด้าน ทต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ก็มีการจัดทำโครงการ ‘ปลูกผักหน้าบ้านหลังบ้าน’ สนับสนุนให้ชาวบ้านหาพื้นที่ปลูกผักในบ้านตนเอง จะได้มีผักกินตลอดปี ปรับเปลี่ยนจากเกษตรสารเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์ ส่งต่อผลผลิตปลอดสารพิษไปยังองค์กรพัฒนาผู้สูงอายุ และองค์กรผู้พิการ เพื่อต่อยอดให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่
.
เช่นเดียวกับ อบต.สำโรงตาเจ็น อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ที่มีการสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชน สอนวิถีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี ส่งเสริมให้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยของครอบครัวชุมชน และสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหาร โดยเฉพาะเด็กประถมวัย ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส

.
นอกจากนี้ ทาง อบต. ยังตั้งศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้มีอาหารเพียงพอในครอบครัว และให้ชาวบ้านได้แบ่งปันกันในชุมชน พร้อมสนับสนุนด้านอื่น ๆ เช่น ธนาคารข้าว กลุ่มปลูกผัก วิสาหกิจชุมชน และการแปรรูปอาหาร เพื่อให้ชาวบ้านมีแหล่งอาหารที่ผลิตเองได้ พึ่งพาตนเองได้บนหลักการเศรษฐกิจพอเพียง
.
‘วิถีเกษตรอินทรีย์’ เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น หากอยากทราบว่าแต่ละชุมชนมีแนวคิดและวิธีการอย่างไร ในการรับมือภัยวิกฤตโควิด-19 ต้องมาร่วมติดตามหาคำตอบกันต่อ ใน Facebook Live งานเสวนาออนไลน์ ‘พ้นภัยวิกฤตด้วย ความมั่นคงทางอาหาร’ ในวันที่ 18 มิถุนายน 63 เวลา 10.00น.

.
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส