สสส.จับมือ อบต.คูหา-ลำพะยา ร่วมขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ

สสส.จับมือ อบต.คูหา-ลำพะยา ร่วมขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ
.
สสส.หนุนอปท.ภาคใต้ตอนล่าง ยกระดับขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ เน้นหลักทำงานลดการปะทะทางความคิดและวัฒนธรรม สร้างเกษตรกรรมยั่งยืน อหารปอดภัย ลด ละ เลิกบุหรี่ มุ่งเน้นสร้างพื้นที่ต้นแบบ Digital Life Society นำร่องพื้นที่ 16 ตำบลห้องประชุมเทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง พร้อมทั้งจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบต.คูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา พร้อมเครือข่าย 15 ตำบล และ อบต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมเครือข่าย 15 ตำบล

นายปัญญา ศรีทองสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)คูหา เปิดเผยแนวทางการขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ ว่า จากการทำงานที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการจัดการดำเนินงานเป็นหมวดหมู่หรือแยกแยะที่ชัดเจน แต่พอมาเข้าร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ทำให้เรามีการทำงานที่เป็นระบบ มีการจัดทำฐานข้อมูลตำบลเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาได้อย่างตรงจุด ทำให้มองเห็นต้นทุนของชุมชนว่ามีอะไร ซึ่งพบว่า เรามีทุนทางภาคีเครือข่าย 4 องค์กรหลัก ได้แก่ ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงาน และประชาชนที่พร้อมช่วยเหลือขับเคลื่อนการสร้างตำบลสุขภาวะร่วมกัน โดยเฉพาะชมรมผู้สูงอายุ สภาเด็กและเยาวชน ที่เป็นแกนขับเคลื่อนในภาคประชาชน ซึ่งทำให้เกิดโครงการตามมาหลายเรื่อง

ทั้งนี้สภาเด็กและเยาวชนบ้านห้วยเต่า ถือเป็นกลุ่มเยาชนที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาตำบล จากเดิมที่มุ่งเน้นกิจกรรมปลอดอบายมุข และยาเสพติด ทาง อบต. เล็งเห็นความเข้มแข็งจึงเข้าไปจุดประกายให้สภาเด็กคิดเรื่องอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้เขาเห็นว่าเยาวชนสามารถมีบทบาทและทำอะไรได้อีกหลายเรื่องโดยที่ผู้ใหญ่ให้การยอมรับ สภาเด็กและเยาวชนซึ่งมีแกนหลักกว่า 30 คน จึงระดมทุนทางความคิดที่จะทำตัวเองให้มีศักยภาพเพื่อพัฒนาหมู่บ้านตนเอง เริ่มจาก โครงการขยะบุญ นำรายได้ไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทั้งยังช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย รวมถึงอาหารปลอดภัย ด้วยการนำร่องทำเกษตรปลอดสารเพื่อลดการบริภาคพืชผักผลไม้ที่มีสารเคมีเจือปน ด้วยการหันมาปลูกผัก และผลไม้ปลอดสารไว้ในครัวเรือนภายใต้ โครงการ “หน้าบ้านน่ามอง” ซึ่งต่อไปจะมีการตั้งศูนย์เรียนรู้ เพื่อขยายผลสู่เป้าหมายเกษตรแปลงใหญ่ในอนาคตส่วนเรื่องผู้สูงอายุ เราได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้ง อบต. ฝ่ายความมั่นคง รพสต. พระ ในการออกไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เรามีกองทุนคนคูหาไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือจากการระดมทุนของภาคเอกชน
นายก อบต.คูหา กล่าวอีกว่า ท้องถิ่นหลาย ๆ แห่ง ยังมุ่งเน้นงานโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำไปแล้วก็จบไป แต่ชาวบ้านยังเจ็บป่วย ยังไม่มีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นสุขภาวะชุมชนที่ดีถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ด้วยการให้ประชาชนตระหนักการอยู่ในสังคมอย่างมีสุขภาพที่ดี

ด้าน นายทะนง ไหมเหลือง นายก อบต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา เปิดเผยว่า ตำบลลำพะยามีประชากรประมาณ 3,000 คน โดยนับถือศาสนาพุทธร้อยละ 75 และอิสลามร้อยละ 25 ซึ่งเราเป็นชุมชนพี่น้องอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่กันฉันพี่น้อง มีกิจกรรมทำร่วมกันเสมอไม่ว่าจะศาสนาใดทุกคนก็จะไปช่วยกันไม่มีแบ่งแยก นี่คือจุดแข็งของพื้นที่ ต.ลำพะยา
​ทั้งนี้ภายในพื้นที่ ต.ลำพะยา มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย ดังนั้นเราจึงมุ่งเน้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะ ซึ่งหากแหล่งท่องเที่ยวหรือชุมชนเต็มไปด้วยขยะ ชุมชนก็ไม่น่าอยู่ ไม่น่ามอง
​“เราพร้อมในการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ ซึ่งในฐานะที่เป็นศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน(ศจค.) และมี อบต. ลูกข่าย อีก 15 แห่ง จะช่วยกันสร้างตำบลสุขภาวะให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน” นายก อบต.ลำพะยา กล่าว
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการแผนสุขภาวะชุมชน สำนัก 3 กล่าวว่า ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) 2 แห่ง คือ เครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบลคูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และ เครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบลลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ครอบคลุม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความพิเศษ แตกต่างจากพื้นที่อื่น เพราะมีความเปราะบางทางการเมืองสูง ทางสสส.และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จึงอยากให้ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ ได้แก่ 1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 3.หน่วยงานรัฐในพื้นที่ และ 4.องค์กร ชุมชน และภาคประชาชน มีความแน่นแฟ้น ร่วมมือกันทำงานเพื่อชุมชน และคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
“ด้วยความที่ยังเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวทางความคิด จึงอยากให้ทั้ง 4 องค์กรหลักร่วมกันทำงานในประเด็นที่ไม่ต้องปะทะกันทางความคิดและวัฒนธรรมมากนัก โดยให้เน้นไปในประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืน อาหารปลอดภัย และการลดละเลิกบุหรี่ เป็นหลัก” น.ส.ดวงพร กล่าว
ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะในปี 2563-64 จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างพื้นที่ต้นแบบ Digital Life Society เนื่องจากปัจจุบัน ทิศทางและกระแสโลกมุ่งไปทางนั้นหมดแล้ว ต่อไปชุมชนต้องเชื่อมต่อกับความเป็นไปของโลกให้ได้ ซึ่งขณะนี้ได้พื้นที่นำร่องแล้ว 16 ตำบล ทั้ง 16 ตำบลจะเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย จากนั้นจะขยายออกไปเรื่อย ๆ
อีกประเด็นหนึ่งที่ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สสส.ให้ความสำคัญ คือ ความสามารถในการปรับตัวหรือความสามารถในการฟื้นคืนสู่ปกติ (Resilience) ของชุมชน เพราะปัจจุบันโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทางสสส.จึงอยากจะเน้นย้ำให้ชุมชนเตรียมแผนรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งภาวะโลกร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือโรคระบาด เพื่อลดผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับให้น้อยที่สุด

ขอบคุณที่มา : www.khaophuthon.com
.
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส