สสส.-เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ผนึก 5 จังหวัด รณรงค์ “ลดเมา เพิ่มสุข”

สสส.-เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ผนึก 5 จังหวัด รณรงค์ “ลดเมา เพิ่มสุข” ปฏิบัติการ “ชุมชนอาสา ลดเมา ลดเหตุ” ชูมาตรการ 3 สร้าง “สร้างจุดบริการด่านชุมชน-พื้นที่ปลอดเหล้า-ถนนปลอดภัย” รับมือ 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ มั่นใจตอบโจทย์พื้นที่ชุมชน ลดอุบัติเหตุบนถนน

เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ลานพระบรมรูป รัชกาลที่ 5  จ.เชียงราย เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์และขับเคลื่อน “ลดเมา เพิ่มสุข” ปฏิบัติการ “ชุมชนอาสา ลดเมา ลดเหตุ” โดยมีการประกาศปฏิญญา “ลดเมา เพิ่มสุข” พร้อมกันทั้ง 5 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น, สกลนคร, เชียงราย, เพชรบูรณ์ และนครปฐม เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) อื่นๆ ต่อไป

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส.และ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) กล่าวว่า จากข้อมูลอุบัติเหตุของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ 7 วันอันตราย เมื่อประมาณ 6-8 ปี ก่อน มีการเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ 7 วันอันตรายอยู่ที่ประมาณ 370 ราย คิดเป็นเสียชีวิตเฉลี่ยที่ประมาณ 52-53 รายต่อวัน   ต่อมาลดลงเหลือประมาณ  46 รายต่อวันในช่วงปี 2555-2557 แล้ว เพิ่มขึ้นในช่วงสองปีหลัง คือ เป็นเฉลี่ยวันละ 52 และ 63 ราย สำหรับปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ   หากพิจารณาจากพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลาย จะพบว่า มอเตอร์ไซด์คิดเป็น 43% และ รถกะบะ คิดเป็น 15% ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ความเร็วเป็นสาเหตุ 40% เมาขับเป็นสาเหตุ 17% ของการบาดเจ็บและเสียชีวิต ถนนที่เกิดการบาดเจ็บสูงสุด คือ ถนนชนบท ขณะที่ถนนที่เกิดการเสียชีวิตสูงสุด คือ ถนนหลวง กลุ่มอายุที่บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ 15-19 ปี ตามด้วย อายุ 20-24 ปี จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันรณรงค์เพราะความเสียหายจากอุบัติเหตุจราจรกำลังเพิ่มสูงขึ้น และการทำงานต้องมุ่งตรงไปที่สถานการณ์เสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ และการรณรงค์ป้องกันในระดับชุมชนถือเป็นการตอบโจทย์ปัญหานี้อย่างมากเพราะปัญหาเกิดขึ้นกับการฉลองในชนบท และการเดินทางระหว่างชนบทเข้าเมืองเพื่อเที่ยวสงกรานต์ในเมืองใหญ่

นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยการสนับสนุนของ สสส. ดำเนินการขับเคลื่อนและรณรงค์สร้างสรรค์พื้นที่ปลอดเหล้าโดยชุมชนท้องถิ่นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ด้วยกิจกรรมรณรงค์  “ลดเมา เพิ่มสุข” ปฏิบัติการ “ชุมชนอาสา ลดเมา ลดเหตุ” โดยมีความมุ่งหวังว่าจะเป็นกลไกที่บรรเทาจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเป็นกระตุ้น และหนุนเสริมให้เป็นแนวทางการรณรงค์ขยายผลไปยัง อปท. อื่นๆ ด้วยการดำเนินการ 3 สร้าง คือ 1. สร้างจุดบริการ เพื่อช่วยเหลือ และ บริการแก่ผู้ขับรถสัญจรไปมาทั้งในพื้นที่และ ระหว่างพื้นที่ ด้วยการให้มีด่านครอบครัว ด่านชุมชน 2.สร้างสรรค์พื้นที่ปลอดเหล้า เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม และสานความสัมพันธ์ โดยมิใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการกำหนดพื้นที่ เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า  งานบุญประเพณีปลอดเหล้า หรือการเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชน เป็นต้น 3.เสริมสร้างถนนปลอดภัย ด้วยการสำรวจประเมินจุดเสี่ยงบนท้องถนนในชุมชน, ปรับปรุงถนนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางท้องถนน ซึ่งอาศัยความร่วมมือของกลไกในชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นการช่วยเหลือตนเอง ในระดับครอบครัวชุมชน ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและจังหวัด

ด้าน นพ.ธวัชชัย  ใจคำวัง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์จังหวัดเชียงรายในปี 2559 มีการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย ในเทศกาลสงกรานต์ จำนวน 97 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 95 คน และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งสูงเป็นเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จึงขอชวน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันกำหนดมาตรการและมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อรณรงค์ ให้เกิดกิจกรรม 3 สร้าง “ลดเมา เพิ่มสุข” ปฏิบัติการ “ชุมชนอาสา ลดเมา ลดเหตุ”เพื่อช่วยกันป้องกัน ควบคุมและช่วยเหลือ เพื่อลดการเกิดอุบติเหตุโดยเฉพาะจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ

 

 

ปฎิญา

*ปฏิญญา “ลดเมา เพิ่มสุข” เชียงราย