ห้องเรียนสู้โรคระบาด บทพิสูจน์ท้องถิ่นจัดการศึกษาด้วยตนเอง

ห้องเรียนสู้โรคระบาด บทพิสูจน์ท้องถิ่นจัดการศึกษาด้วยตนเอง

1 กรกฎาคม เป็นวันเปิดเทอมอย่างเป็นทางการหลังจากที่ก่อนหน้านี้โรงเรียนทั่วประเทศต้องเลื่อนการเรียนการสอนเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19

แม้ตัวเลขผู้ป่วยในไทยลดลง กระทั่งบางวันไม่มีรายงานตรวจพบผู้ติดเชื้อ แต่หากมองสถานการณ์โลกแล้ว เราไม่อาจเบาใจได้เลยว่าจะไม่มีการระบาดระลอกใหม่ การเปิดเทอมในวันนี้จึงเป็นการนับหนึ่งของระบบการศึกษาวิถีใหม่ ที่จะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ เรียนได้ และป้องกันโรคระบาดไปในตัว

ประเด็นนี้นำมาสู่การจัดเสวนาผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง เตรียมความพร้อมก่อนวันเปิดเทอม” โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการของโรงเรียนในสังกัดท้องถิ่น และการเตรียมความพร้อมด้านการเรียนการสอน และสุขอนามัยของท้องถิ่น 3 พื้นที่ คือ จ.พะเยา จ.ขอนแก่น และ จ.ฉะเชิงเทรา

นิภาวรรณ์ หายทุกข์ ปลัดเทศบาลตำบลงิม อ.ปง จ.พะเยา เล่าว่า โรงเรียนเทศบาลตำบลงิม (คือเวียงจ่ำ) มีนักเรียนกว่า 300 คน ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมผู้ปกครองทุกระดับ ทั้งอนุบาล ประถมศึกษา พบว่าต้องเตรียมมาตรการป้องกันตนเองจากไวรัส COVID-19  มีการแจกเฟซชิลด์และหน้ากากอนามัยให้เด็กประถมศึกษาคนละ 4 ผืน ทั้งมีการตั้งจุดคัดกรอง อ่างล้างมือ และการดูแลในเรื่องรถรับส่งให้มีความพร้อม ส่วนการเรียนการสอนก็ต้องมีการเว้นระยะห่าง ซึ่งโรงเรียนประเมินแล้วสามารถทำได้เพราะแต่ละห้องมีเด็กเพียง 10-20 คนเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น ปลัดเทศบาลตำบลงิมยังเล่าอีกว่า ในช่วงรับประทานอาหารกลางวันจะมีการเหลื่อมเวลากัน เด็กอนุบาลต้องนอนในมุ้งเพราะช่วงนี้เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก มีการทำความสะอาดของเล่น สลับกันเล่นผ่านฐานต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เด็กอยู่ใกล้กันเกินไป มาตรการเหล่านี้แม้จะยุ่งยากและต้องจัดการเยอะ แต่ทุกคนต้องปรับตัว

“ครูที่สอนต้องเน้นให้เด็กปรับพฤติกรรม ให้เขารู้จักป้องกันตนเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าหากคอยห้ามเด็กก็คงไม่ไหว แต่เราจำเป็นต้องให้ความรู้”

ที่พะเยาจัดการอย่างไร ขอนแก่นก็ไม่ต่างกันมากนัก จิระศักดิ์ แก่นดู่ ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลตำบลบ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น เล่าถึงวิธีการจัดการของโรงเรียนเทศบาลตำบลบ้านแฮดให้ฟังว่า จากเดิมที่การเข้าแถวเป็นกิจกรรมที่ต้องรวมกัน วันนี้ก็มีการแบ่งให้เด็กระดับอนุบาลและประถมศึกษาเข้าแถวแยกกัน 2 จุด เมื่อเข้าสู่การเรียนการสอนก็พยายามงดกิจกรรมที่ต้องมีการรวมกลุ่ม

“กิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มหากมีจำนวนมากก็จะให้งด แต่หากไม่เกิน 5 คนก็ยังสามารถทำได้ มีการให้ครูประจำชั้นทำแผนการสอนว่าจะจัดการเรียนรู้แบบใดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งเราค่อนข้างหนักใจในวิชาพละศึกษาพอสมควร เพราะเวลาเรียนจะมีการรวมตัวกันของนักเรียน”

ดร.กิตติพงศ์ สีเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า 4 โรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบของ อบต.เสม็ดใต้ นั้นทำงานร่วมกันมาโดยตลอด มีการเชิญผู้บริหารมาเตรียมความพร้อมโดยมี อบต. เป็นศูนย์กลางสนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งทุกโรงเรียนมีมาตรการดูแลทำความสะอาดเหมือนกันหมด และย้ำว่าทุกอย่างถูกปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันโรคระบาดเป็นอย่างดี

“ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นในโรงเรียนว่ามีมาตรการเตรียมความพร้อมป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นอย่างดี สำหรับในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ให้ได้มาตรฐาน คิดว่าไม่มีอะไรน่าห่วง เราทำตามสิ่งที่กระทรวงกำหนด ทั้งการเรียนรู้จากห้องเรียน และการเรียนเสริมผ่านจอทีวี มีการติดจอภาพไว้ทุกห้อง และด้วยความแต่ละโรงเรียนมีพื้นที่กว้าง เด็กน้อย จึงไม่แออัด ครูแต่ละคนดูแลเด็กเพียง 10 คนเท่านั้น จึงเชื่อว่าจะสามารถให้ความรู้เด็กได้อย่างทั่วถึง”

จากการเตรียมความพร้อมของแต่ละโรงเรียน รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จะต้องไม่ปล่อยให้ครูทำงานตามลำพัง เพื่อให้การเรียนรู้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน และต้องสื่อสารให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าเมื่อเด็ก ๆ มาโรงเรียนแล้วพวกเขาจะปลอดภัย

ด้าน ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องช่วยกันดูก็คือมองไปยังเด็กเมื่อกลับไปอยู่บ้าน เขาปฏิบัติตัวอย่างไร มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่ หากเขาได้ทำซ้ำ ๆ ก็จะทำให้วิธีปฏิบัติตัวในช่วงโรคระบาดนั้นเปลี่ยนไปอัตโนมัติ การดูแลตั้งแต่โรงเรียนจนถึงครอบครัวแบบรอบด้าน จะนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลซึ่งกันและกัน อันจะกลายเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้พิสูจน์ว่า ท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากเพียงใดก็ตาม

#อยู่บ้านหยุดเชื้อช่วยชาติ

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#ชุมชนเข้มแข็ง

#สสส