เกาะขันธ์ ต้นแบบตำบลสุขภาวะ ชู “กำนันสไตล์” กลไกขับเคลื่อนพื้นที่

กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นหัวหอกสำคัญของกลไกคณะกรรมการพัฒนาตำบล และดูแลลูกบ้านในเขตรับผิดชอบ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคใต้ตอนบน (ศวภ.ใต้ตอนบน) ตำบลเกาะขันธ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และเครือข่ายตำบลพัฒนาทั้ง 12 ตำบล

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่  กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยยุทธศาตร์เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา สู่การจัดการตนเอง” ตอนหนึ่งว่า สสส. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ริเริ่ม ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม ในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีและร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ทำหน้าที่รับผิดชอบขับเคลื่อนงานในพื้นที่ชุมชนมีเป้าหมายในการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถจัดการตนเอง โดยสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการปรับเปลี่ยนและบูรณาการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน พร้อมร่วมพัฒนานักสุขภาวะชุมชน ในการสร้างคนให้มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย จิตใจ และปัญญา ให้เป็นกำลังของประเทศชาติต่อไป

“เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ร่วมกับสำนัก 3 ได้ขับเคลื่อนงานในหลายมิติของชุมชนทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญของพื้นที่และประชาชนเป็นที่ตั้งในการทำงาน ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและยุทธศาตร์ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ มาเป็นเครื่องมือในการบริหารชุมชน ควบคู่ไปกับแนวคิด ‘การระเบิดจากข้างใน’ ด้วยการให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง รวมทั้งต้องรู้จักใช้พลังของชุมชนมาขับเคลื่อนงาน” นายสมพร กล่าว

ด้านน.ส. ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุน สำนัก3 (สสส.) กล่าวถึง “การสร้างความเข้าใจเป้าหมายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนขบวนการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” ว่า สำนัก 3 มีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความแข็งแรงของชุมชนท้องถิ่นให้มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการพัฒนาตำบล ซึ่งประกอบไปด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การเป็นชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยเน้นที่การเสริมพลัง สร้างความร่วมมือ ให้กับองค์กรหลักในชุมชนได้มีบทบาทหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ โดย “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” เป็นโครงการแรกที่สำนัก 3 เข้ามาสนับสนุนการทำงานในระดับท้องที่(ตำบล)โดยตรง ดังนั้นการทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ และเป้าหมายของการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน ซึ่ง ต.เกาะขันธ์ ถือเป็นพื้นที่ที่มีคณะกรรมการพัฒนาตำบลที่แข็งแกร่ง พร้อมที่จะเป็นต้นแบบให้อีก 12 ตำบลเข้ามาเรียนรู้

“ในการขับเคลื่อนงานการส่งเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่น สสส. เปรียบตัวเองเสมือนเป็นน้ำมันหล่อลื่นในการผลักดันงานให้เดินไปถึงเป้าหมายและเกิดผลสำเร็จในที่สุด สสส. ทำงานร่วมกับเครือข่ายพัฒนาตำบลทั้ง 12 ตำบล และคาดหวังให้เกิดโมเดลการทำงาน เพื่อนำพาชุมชนไปสู่การจัดการตนเองและเกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต” นางสาวดวงพร กล่าว

จากการสำรวจทุนและศักยภาพของพื้นที่ ต.เกาะขันธ์ พบว่าเป็นพื้นที่มีทุนในชุมชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทุนบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มีกลุ่มทางสังคม องค์กรชุมชน หน่วยงานและแหล่งประโยชน์ มีระดับหมู่บ้านจัดการตนเอง ที่สำคัญประชาชนยังมีพลังกายพลังใจที่จะทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชนตำบลเกาะขันธ์มีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบในการปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ นางเพ็ญศรี ทองบุญชู กำนันตำบลเกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช นำเสนอประมวลผลการขับเคลื่อนกิจกรรมตำบลสุขภาวะว่า ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชนตำบลเกาะขันธ์ และเครือข่ายตำบลพัฒนา 12 ตำบล ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการของพื้นที่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ กิจกรรมภายใต้สภาเด็กและเยาวชน และส่งเสริมกองทุนสวัสดิการ เป็นต้น 2.ปัจจัยสร้างเสริมสุขภาพ เช่น อาหารชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อม กองทุน อาชีพเสริม ตลาดชุมชน และอาสาสมัคร 3.รูปธรรมการจัดการพื้นที่ มีหมู่บ้านจัดการตนเองอย่างน้อยตำบลละ 1 หมู่บ้าน โดยมีการสำรวจทุน เทียบเคียงคุณลักษณะ พร้อมทั้งพัฒนาให้เกิดเป็นหมู่บ้านจัดการตนเองทุกตำบล

“จากการที่ สสส.เข้ามาร่วมขับเคลื่อนในพื้นที่ทำให้เรารู้วิธีการจัดการข้อมูลชุมชน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น 1.ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น เพราะชุมชนรู้จักการจัดการน้ำส่งผลให้มีผลผลิตตลอดปี 2.คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง จากการจัดกิจกรรมออกกำลังกายทุกเย็นในชุมชน ที่สำคัญคนในชุมชนมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน มีความหวังที่ยึดมั่น จนทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นจึงคาดหวังให้เกิดในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” กำนันตำบลเกาะขันธ์ กล่าว

หากจะนำพื้นที่ไปสู่การพัฒนาระบบการจัดการตนเองอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ นอกจากผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่แล้ว การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าไปร่วมทำงาน ร่วมคิด และร่วมสร้างสรรค์ ก็เป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาไม่แพ้กัน