‘เทศบาลตำบลแม่ปูคา’ พลังชุมชนดูแลคนป่วย-ผู้สูงวัย

“ผู้สูงอายุมากขึ้นๆ ต่อไปจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างนโยบายรัฐบาลแน่นอน ฉะนั้นเราหนีไม่พ้น เราต้องเจอ เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมรับไว้แล้ว ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้แล้วจะเริ่มเมื่อใด อย่าง สสส. ที่ผมไปร่วม 2,500 กว่าแห่งเล่นเรื่องประเด็นผู้สูงอายุ บางสำนักก็เรื่องปฐมวัย บางสำนักก็เรื่องอื่นๆ มันมีหลายสำนัก แต่ถามผมเล่นประเด็นผู้สูงอายุแสดงว่าผมมาถูกทางแล้ว เพราะต่อไปผู้สูงอายุจะเป็นใหญ่ จะมีความสุข เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมความพร้อม อย่างพวกเราสักคนก็ต้องไปอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว”

มุมมองจาก สุพจน์ วรรณก้อนนายกเทศมนตรีตำบลแม่ปูคา ตอบคำถามสื่อมวลชนและคณะทำงานของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ไปศึกษาดูงาน เทศบาลตำบล (ทค.) แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ถึงเหตุผลที่ว่า “ทำไมเทศบาลตำบลปูคาถึงให้ความสำคัญกับงานด้านดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งก็มาจากคำเตือนที่ว่า “ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว..และอีกไม่นานจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ของหลายหน่วยงาน

อาทิ ข้อมูลจาก “สภาพัฒน์- สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด เช่นเดียวกับข้อมูลจาก กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า ในปี 2574 ไทยจะมีประชากรวัยเกษียณอยู่ที่ร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด หรือเรียกว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอด

สุพจน์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันพื้นที่ ทต.แม่ปูคา มีผู้สูงอายุราว 1,300 คน จึงจัดทำ “แผนที่เดินดิน” ใช้สีแทนประเภทผู้สูงอายุที่อาศัยในบ้านแต่ละหลัง สำหรับให้ผู้เกี่ยวข้องใช้วางแผนบริหารจัดการแบ่งออกเป็น 1.สีเขียว (ติดสังคม) หมายถึงผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง พึ่งพาตนเองได้ 2.สีเหลือง (ติดบ้าน) หมายถึงผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วยแต่ยังพอดูแลตนเองได้บ้างซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู และ 3.สีแดง (ติดเตียง) หมายถึงผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถดูแลตนเองได้ จึงต้องให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมผู้ดูแล (Caregiver) เข้าไปช่วยเหลือ

หลังการบรรยายสรุป ณ ที่ทำการ ทต.แม่ปูคา คณะทำงานของ สสส. และสื่อมวลชนเดินทางต่อไปยัง ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ที่นี่มีผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน รวมถึงคนวัยอื่นๆ ที่ต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย อุปกรณ์หลายอย่างทำจากสิ่งที่หาได้ในชุมชน แต่ก็มีบ้างที่ต้องขอระดมทุนจากชาวบ้านที่เห็นคุณค่าของศูนย์นี้ เช่น เครื่องออกกำลังกาย

หนึ่งในทีมงานของศูนย์ดังกล่าวกุหลาบ ยาระปา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เล่าว่า ทีมงาน อสม. ในพื้นที่ได้รับการอบรมให้สามารถดูแลผู้ป่วย เริ่มเปิดทำการมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2562 ให้บริการทุกวันอังคาร พฤหัสฯและเสาร์ ระหว่างเวลา 09.00-15.00 น. ทั้งนี้ผู้ป่วยรายใดที่ไม่สามารถเดินทางจากบ้านมาด้วยตนเอง ทาง ทต.แม่ปูคา ยังมีบริการจัดรถรับ-ส่งด้วย

“เฉลี่ยวันหนึ่งดูแลได้ 30 คน แต่ไม่ใช่ทุกวันที่มี 30 คน อย่างบางวันมี 15 คน บางวันมี 9 คน วันที่น้อยที่สุดตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 5-6 คน มากที่สุดก็ประมาณ 20 กว่าคน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ อาการส่วนใหญ่ก็จะเป็นปวดไหล่ ปวดหัวเข่า ใช้เวลาคนละ 1 ชั่วโมงในการบำบัด คือการฝึกให้เดินเพื่อออกกำลังกาย แต่กรณีปวดไหล่ ปวดหัวเข่าทั่วไปจะใช้เวลาไม่ถึง สอนออกกำลังกาย สอนประคบ อาจจะมีกระตุ้นไฟฟ้าถ้าวันไหนนักกายภาพมา ประมาณ 30 นาทีขึ้นไป” กุหลาบ ระบุ

อีกด้านหนึ่ง อเนกภณ จินา สมาชิกสภาเทศบาลตำบลแม่ปูคา ยังเล่าถึง “การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน” ด้วยว่า เดิมที อสม. ก็มีภารกิจดูแลสุขภาพกาย เช่น วัดความดัน เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกระบาด ฯลฯ อยู่แล้ว ต่อมาจึงมีการจัดตั้ง “ชมรมอุ่นใจ” ขึ้นมาดูแล “สุขภาพจิต” ของคนในชุมชนผ่านการพูดคุย รวมถึงติดตามผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนว่าหลังได้รับการฟื้นฟูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะ “การให้โอกาสด้านอาชีพ” เทศบาลมีความร่วมมือกับศาสนสถานในพื้นที่ที่รับผู้ป่วยจิตเวชซึ่งรับการรักษาจนสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้เป็นปกติเข้าทำงาน เบื้องต้นจากผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 19 คน มี 3 คนที่ได้ทำงานเพราะผ่านการคัดกรองแล้ว เช่น ทำความสะอาดวัดหรือช่วยงานจิปาถะในวัด สิ่งที่พบคือเมื่อคนเหล่านี้ได้ทำงาน สุขภาพจิตก็ยิ่งดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัวด้วยเพราะผู้ป่วยมีรายได้จากการทำงานอย่างน้อยเทียบเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ

“เราไม่ใช่ดูแลเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช เราดูแลญาติในเรื่องของการให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช เราพาญาติและผู้ป่วยจิตเวชออกไปทัศนศึกษาข้างนอกเพื่อให้ญาติของผู้ป่วยจิตเวชมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อที่จะได้ดูแลได้ดีขึ้น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก ทต.แม่ปูคา กับกองทุนหลักประกันสุขภาพ หรือ สปสช. อีกส่วนหนึ่งยังได้รับงบประมาณจากภายนอกด้วยในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช”อเนกภณ กล่าว

นอกจากสุขภาพกายและสุขภาพจิตแล้ว “สังคมและวัฒนธรรม” ก็เป็นเรื่องที่ ทต.แม่ปูคา ให้ความสำคัญ ศรีทนกำมะโน รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่ปูคา กล่าวเสริมว่า ทต.แม่ปูคา มีกิจกรรม “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ชวนผู้สูงวัยในชุมชนมาเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีทั้งส่วนกลางและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น พิธีสืบชะตาแบบล้านนา ทั้งนี้ในวันที่ไปดูงาน ยังมีการสาธิตพิธีบายศรีให้ได้ชมด้วย

แม้สังคมสูงวัยจะเป็นข้อกังวลใหญ่ในภาพรวม แต่หากมองแยกย่อยเป็นรายชุมชน โดยเฉพาะชุมชนแบบชนบทหรือกึ่งชนบทที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักคุ้นเคยหรือเป็นญาติพี่น้องกันนี่คือ “ทุนทางสังคม” ที่อาจทำให้การรับมือเป็นไปได้ง่ายขึ้น ดังตัวอย่างของเทศบาลตำบลแม่ปูคา รวมถึงอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย!!!

ที่มา : https://www.naewna.com/local/472261