เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดผนึกกำลัง 3 เทศบาล สร้างเสริมสุขภาพในเขตเมือง

เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดผนึกกำลัง 3 เทศบาล สร้างเสริมสุขภาพในเขตเมือง  

เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดผนึกกำลัง 3 เทศบาล ลงนาม MOU ทำงานสร้างเสริมสุขภาวะ หวังให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการสุขภาวะเขตเมือง เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะที่สสส.ยกระดับการทำงานกับชุมชนขนาดใหญ่ มุ่งให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อขยายแนวคิด วิธีการ และองค์ความรู้ต่าง ๆ สู่อปท.ทั่วประเทศ

เมื่อวันเสาร์ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ที่ห้องประชุมไพฑูรย์ โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดร่วมกับศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีจัดการความรู้และลงนามความร่วมมือสุขภาวะชุมชนเมืองน่าอยู่สู่ความยั่งยืน โดยมีนายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส., นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นางจันทนา อึ้งชูศักดิ์ นายบัญชร แก้วส่อง และ ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) เข้าร่วมเวที

นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ในฐานะหัวหน้าโครงการสร้างสุขภาวะชุมชนเพื่อเมืองร้อยเอ็ดน่าอยู่สู่ความยั่งยืน เปิดเผยว่า จากการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้รับการสนับสนุนจากสสส.ให้ดำเนินโครงการสร้างสุขภาวะชุมชนเพื่อเมืองร้อยเอ็ดน่าอยู่สู่ความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดให้เป็นต้นแบบการจัดการสุขภาวะชุมชนเขตพื้นที่เมือง ด้วยการนำใช้ทุนและศักยภาพออกแบบระบบการจัดการพื้นที่ พัฒนานวัตกรรม และนโยบายสาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และพันธกิจของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยคำนึงถึง “สุขภาวะทุกมิติ” ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร

เหตุนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพระบบการจัดการพื้นที่และสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชนท้องถิ่นให้เป็นกลไกในการจัดการกับสถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์วิกฤตที่กระทบต่อชุมชนท้องถิ่น จึงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดร้อยเอ็ดจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ อ.สุวรรณภูมิ, เทศบาลตำบลเสลภูมิ อ.เสลภูมิ และเทศบาลเมืองสรวง อ.เมืองสรวง เข้าร่วมเป็นเครือข่ายและได้จัดทำบันทึกความร่วมมือขึ้นมา

ด้านนายสมพร ใช้บางยาง  ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า  เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีมากกว่า 3,000 แห่ง นับเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในการพัฒนาท้องถิ่น ที่ผ่านมา สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาวะชุมชน กับชุมชนฐานล่างเป็นหลัก ปีนี้เป็นปีแรกที่สสส. ได้เริ่มหาต้นแบบการสร้างระบบการจัดการสุขภาวะของชุมชนเมือง โดยนำเอาศาสตร์พระราชามาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

“เป้าหมายสุดท้ายที่เราต้องการเมื่อทำงานกับชุมชนเมือง รวมถึงชุมชนฐานล่าง คือ เราอยากเห็นชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ ดูแล พัฒนา ชุมชนตนเองได้  โดยให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูล ซึ่งเป็นหนึ่งในศาตร์พระราชา ที่ว่าด้วยการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา การมีข้อมูลทำให้สามารถเข้าถึงปัญหาที่แท้จริง  จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การระเบิดจากข้างใน ก็จะทำให้เห็นความสำคัญของคนในชุมชน สามารถสร้างความเข้มแข็ง มีศักยภาพด้วยตัวเอง  และสุดท้ายจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง นำไปสู่การจัดการชุมชนได้” ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าว

ขณะที่นายธวัชชัย  ฟักอังกูร  ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวถึงเป้าหมายการหนุนเสริมสุขภาวะชุมชน ว่า สสส.จะเข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของอปท. เพื่อทำให้ท้องถิ่นไปเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในเขตของตนเอง ทำให้ท้องถิ่นมีศักยภาพสามารถดูแลการจัดการปัญหาของตนเองให้ได้  ทั้งนี้แม้โครงการนี้จะมีระยะเวลาเพียง 1 ปี 6 เดือน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจะมีค่ามหาศาล

“อยากให้มีความหวัง เพราะประโยชน์ที่จะเกิดหลังจบโครงการในระยะปีครึ่งนี้  คือ 1.ชุมชนจะมีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตนเอง จะจัดการกันเอง ดูแลกันเอง จะร่วมมือกันป้องกันปัญหาและแก้ปัญหา 2. ชุมชนจะไม่ทอดทิ้งกัน คอยช่วยเหลือกันและกัน มีความเอื้ออาทร มีจิตอาสา 3.เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ในชุมชน เช่น ผู้นำ คนต้นแบบ รู้รับปรับตัว สามารถเผชิญปัญหาได้ ขณะที่  อปท. จะมีชุมชนเข้ามาช่วย อปท.ทำงาน และอปท. จะเป็นของชุมชน หรือ ชุมชน คือ อปท.” นายธวัชชัย กล่าว

ส่วน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สสส.โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ได้ทำงานกับชุมชนระดับตำบลมาโดยตลอด คราวนี้ได้ยกระดับทำงานกับชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร ซึ่งมีความซับซ้อนแตกต่างจากชุมชนท้องถิ่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการศึกษาพัฒนาต้นแบบในการทำงานร่วมกับชุมชนขนาดใหญ่ ส่วนการเลือกทำงานร่วมกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดนั้น ก็เพราะชุมชนนี้มีความเข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของประชาชนมีสูง และที่สำคัญผู้นำมีใจ คือคนได้ ใจได้ ทำงานเป็น ที่ร้อยเอ็ดมีครบ

รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวด้วยว่า หลายคนอาจจะมองว่าชุมชนเมืองมีข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ มีความพร้อมเกือบทุกด้าน แต่จริง ๆ แล้ว ชุมชนเมืองกลับมีจุดอ่อนเรื่องบริการสุขภาพค่อนข้างมาก เกิดความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง จึงพบเห็นคนจนเมืองที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีครอบครัว ไม่มีคนดูแล ถ้าคนเหล่านี้อยู่ในชุมชนนอกเขตเมือง อาจจะมีกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือแกนนำชุมชนช่วยดูแลได้ แต่เมื่อมาเป็นคนจนเมือง คนเหล่านี้อาจจะตกสำรวจ ไม่รู้ว่าอยู่ในหน้าที่ของใคร เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำนี้จึงมีมากเมื่อเทียบกับชนบท

“หน้าที่ของสสส. คือเมื่อเราได้พื้นที่ต้นแบบหรือพื้นที่นำร่อง สิ่งที่เราทำคือการสร้างตัวคูณ โดยขยายแนวคิด วิธีการ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับ ไปสู่อปท.อื่น ๆ ต่อไป” ดร.ประกาศิต กล่าว

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#สสส

#ชุมชนเข้มแข็ง

#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับปรับตัว