54 อปท.ร่วมลงนาม ความร่วมมือเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพิ่มขีดความสามารถอปท. สร้างความเข้มแข็งชุม

วันที่ ๑๕-๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนายธวัชชัย  ฟักอังกูร กรรมการบริหารแผนคณะที่ ๓ นางสาวดวงพร เฮงบุญยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓) และนางธัญญา แสงอุบลผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศวภ.อีสาน) ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายจัด “ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานตามแผนสุขภาวะชุมชนและพิธีลงนามความร่วมมือเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ณ ห้องสีมาธานีแกร์ณบอลรูม โรงแรมสีมาธานี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 

ร่วมกับศูนย์จัดการเครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหยวก อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี องค์การบริหารส่วนตำบลโนนทอง อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนตำบลขุนทอง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และเทศบาลตำบลนาป่าแซง อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญที่ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ มีการพัฒนาผู้รู้และแกนนำของพื้นที่ให้มีขีดความสามารถในการสร้างการเรียนรู้ภายในพื้นที่ของตนเองและเครือข่าย มีกระบวนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้กับเครือข่ายและทำหน้าที่กลไกบริหารจัดการเครือข่าย และกระตุ้นให้เครือข่ายจัดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ที่มีการประกาศปฏิญญาร่วมกันจำนวน ๕๔ อปท. 

สาระสำคัญในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน ควบคู่กับการร่วมกันส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การเป็นชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยเน้นที่การเสริมพลังความร่วมมือให้องค์กรหลักในชุมชนได้ทำบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่  เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ร่วมกัน การผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะระดัโดยบตำบล/เทศบาล เครือข่าย และจังหวัด รวมถึงการมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนและรณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคืนอำนาจให้ชุมชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓) มีภารกิจในการจุดประกาย กระตุ้นและสนับสนุนให้เกิดการนำใช้ทุนและศักยภาพ ให้เกิดการทำงานเชื่อมประสานกันระหว่างภาคีหลักในระดับพื้นที่ และหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาวะของชุมชนท้องถิ่น โดยมีบทบาทในการสนับสนุนทุนและวิธีการเพื่อขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่  

โดยศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน มีบทบาทในการออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเครือข่ายและทำหน้าที่เป็นกลไกบริหารจัดการเครือข่าย ขับเคลื่อนเครือข่ายโดยจัดกิจกรรมก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้นำและแกนนำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ให้มีขบวนการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ของตนเองไปสู่การเป็นชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และพัฒนาระบบการจัดการเครือข่ายให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น ระดับเครือข่าย และระดับกลุ่มพื้นที่ 

 

นอกจากนี้ ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน ยังทำหน้าที่เป็น ศูนย์ฝึกอบรมการพัฒนาระบบข้อมูลตำบล ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายจนมีความสามารถในการจัดทำ ระบบข้อมูลตำบลด้วยการใช้โปรแกรม (TCNAP) และการนำใช้ข้อมูลร่วมกับข้อมูลจากการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาแบบเร่งด่วน (RECAP) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการวางระบบพื้นฐานในการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในช่วงเวลาที่ดำเนินการของโครงการและบูรณาการเข้าสู่งานประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป  

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย จะมีการพัฒนานวัตกรรมที่ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และปกป้องภาวะคุกคาม รวมถึงพัฒนานวัตกรรมที่แสดงถึงรูปธรรมตามเสนอนโยบายสาธารณะ ๘๘ ข้อเสนอ  รวมทั้งและออกแบบและพัฒนาระบบสื่อสารชุมชน   ส่วนศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชนและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ร่วมกันประสานงานและสรรหา 
๕ นักพัฒนา ให้มีการรวมตัวกันเป็น เครือข่าย ๕ นักพัฒนา ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่และระดับเครือข่าย รวมถึงการหนุนการขับเคลื่อน ๗+๑ นโยบายสาธารณะของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย มีการนำบทเรียนไปกำหนดนโยบายสาธารณะในการขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ตน และร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะระดับเครือข่ายสู่การปฏิบัติการจริงในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง  โดย ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายรูปแบบที่ตอบสนองต่อกระบวนการพัฒนาตนเองและเครือข่าย