ศูนย์รวมน้ำใจคนเหล่าใหญ่ : กลุ่มจิตอาสาดูแลสุขภาพ

DSC_0499

กลุ่มไทยเหล่าใหญ่ ห่วงใยผู้ด้อยโอกาส มีข้อจำกัดของกลุ่มที่เกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการ จึงไม่สามารถตระเวนดูผู้ป่วยได้ทุกวัน อดีตนายกเทศมนตรี ฤทธิรงค์ ซองศิริ เลยมีความคิดว่า ควรจัดตั้งกลุ่มอีกกลุ่มขึ้นมารองรับและทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ และบุคลากรที่ดูมีความเหมาะสมมากที่สุดก็คือ อาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งทำงานด้านนี้อยู่แล้ว

พิสมัย กุลเสนชัย ประธานกลุ่มจิตอาสาดูแลสุขภาพ เล่าการทำงานของตัวเองว่า ก่อนที่จะเริ่มกลุ่ม ทางทีมไม้เลื้อย ซึ่งเป็นทีมสหวิชาชีพจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ได้มาฝึกและอบรมอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย ผู้ป่วยติดเตียงที่มีแผลกดทับจะทำอย่างไร ล้างแผลแบบไหน รวมไปถึงวิธีแนะนำครอบครัวในการดูแลผู้ป่วย เมื่ออบรมเสร็จแล้ว ทาง อสม. จะติดตามดูเป็นระยะ ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริม เช่น เครื่องออกกำลังกาย ทางกลุ่มจะติดต่อไปยังเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ เพื่อให้ช่วยประสานงานขออุปกรณ์กับทีมไม้เลื้อยอีกต่อหนึ่ง

ทั้งนี้การตรวจเยี่ยมครั้งหนึ่ง อสม.จะไปเป็นคู่ ชายหนึ่งคน หญิงคนหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของปัญหา เช่น กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ต้องใช้ อสม.ดูแลตามเพศ และในวันที่ทีมไม้เลื้อยเข้ามาร่วมขบวนการออกเยี่ยม ตามธรรมเนียมของคนภูไท ทาง อสม. จะเป็นผู้นำทีมเข้าไป เพราะต้องให้เจ้าบ้านเข้าก่อน

“การเยี่ยมนี้จะต้องไปเยี่ยมทั้งครอบครัว เพราะเราถือว่าต้องดูแลทั้งครอบครัว ยิ่งถ้าเป็นคนไข้จิตเวชด้วยแล้ว โดยจะมีการประเมินว่า กลุ่มไหนต้องมาเยี่ยมแค่ไหน อย่างกลุ่มแผลกดทับต้องมาเยี่ยมทุกวัน ผู้ป่วยจิตเวชที่อาการไม่นิ่ง ไม่มีคนป้อนยา แบบนี้ก็ต้องมาทุกวัน ยิ่งถ้าคนไหนที่คลุ้มคลั่งหนัก เราจะพาคุณหมอมาตรวจแล้วสั่งยาให้ พูดง่ายๆ คือเราเอาคนไข้ไปหาหมอไม่ได้ แต่เราเอาหมอมาให้คนไข้ได้” ปานแก้ว แสบงบาล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่อธิบาย

ปัจจุบันกลุ่มมีจิตอาสาในการดูแลผู้ป่วยทั่วตำบลทั้งสิ้น 12 ชีวิต แบ่งเป็น อสม.ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าใหญ่ 5 คน ดูแลใน 8 หมู่บ้าน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดฝั่งแดง 7 คนดูแลใน 4 หมู่บ้านที่เหลือ

การรักษาจะเน้นความต่อเนื่อง และเฝ้าดูอาการเป็นระยะๆ โดยข้อมูลทั้งหมดนี้จะมีการรวบรวม ก่อนส่งต่อไปยังเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่และทีมไม้เลื้อย เพื่อเป็นข้อมูลประเมินสถานการณ์ เช่น หากมีผู้ป่วยบางคนที่อาการหนักจริงๆ แล้วต้องนำส่งไปยังโรงพยาบาล ก็สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว โดยก่อนหน้านี้มีการส่งผู้ป่วยจิตเวชไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวชที่ขอนแก่นแล้ว 3 คน ทุกคนอาการดีขึ้นตามลำดับ

“เห็นคนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกญาติล่ามโซ่ไว้ วันนี้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ พูดคุยได้ ออกสู่สังคมได้บ้าง ก็เป็นความภาคภูมิใจของเราที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องดีๆ แบบนี้” พิสมัยทิ้งท้าย