ศูนย์รวมน้ำใจคนเหล่าใหญ่ : กลุ่มเติมรักเติมบุญ

DSC_0513

การดูแลรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ให้กลับมามีชีวิตที่เป็นปกติสุขถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้เขามีที่ยืนในสังคมได้สำคัญยิ่งกว่า หลังก่อตั้งกลุ่มไทเหล่าใหญ่ ห่วงใยผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มจิตอาสาดูแลสุขภาพแล้ว อดีตนายกเทศมนตรี ฤทธิรงค์ ซองศิริ เลยมีความคิดต่อเนื่องว่า ควรจะมีการสร้างงานให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้บ้าง

ในที่สุดก็เกิดเป็นการรวมตัวกันของคนพิการและผู้ป่วยจำนวน 127 คนขึ้น ในชื่อ ‘กลุ่มเติมรักเติมบุญ’ โดยใช้สัญลักษณ์นกพิราบคาบพวงมาลัย โดยนกพิราบเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระ ส่วนพวงมาลัยเป็นตัวแทนของการทำบุญ

อภิชัย พลหงส์ ประธานกลุ่มเติมรักเติมบุญ ซึ่งเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวเพราะเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่กำเนิด เล่าให้ฟังถึงการรวมกลุ่มนี้ว่า เกิดขึ้นในปี 2552 โดยในครั้งนั้นมีการจัดประชุม ณ เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ มีคนเข้าร่วมนับร้อยชีวิต โดยสาระสำคัญคือการฝึกอาชีพคนพิการให้สามารถเลี้ยงชีพ หรือทำประโยชน์ต่อสังคมได้บ้าง

“เราเริ่มระดมหุ้นกันในกลุ่ม หุ้นละ 40 บาท บวกกับค่าสมัครอีก 10 บาท เพื่อเป็นทุนรอนก้อนแรกในการตั้งกองทุน จากนั้นเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ช่วยสบทบให้อีก 3 ปี โดยปี 2552 ให้ 30,000 บาท ปี 2553 ให้ 10,000 บาท และปี 2554 ให้ 10,000 บาท เราเอาเงินที่ได้มาจัดอบรมอาชีพ เชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าสีแก้ว อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ มาสอนการทำน้ำยาล้างจาน สบู่เหลว” อภิชัยเล่า

หลายปีผ่านมา สินค้าเริ่มหลากหลายมากขึ้น วันนี้มีทั้งเสื้อยืด กระเป๋า ส่วนช่องทาการกระจายสินค้าก็คือฝากตามร้านค้าต่างๆ ในชุมชน โดยแบ่งค่าจำหน่ายให้ร้อยละ 20 แต่ส่วนมากหลายๆ ร้านจะไม่หัก เพราะถือเป็นการช่วยเหลือกัน

ในปีแรกมีคืนปันผลให้สมาชิก โดยนำกำไรมาหารแบ่งในสัดส่วนเท่ากันทุกคน แต่มาระยะหลัง ไม่มีการปันผลออกมาเป็นตัวเงินสดแล้ว เพราะประธานหันไปใช้วิธีการนำเงินรายได้สมทบเข้าไปในบัญชีกลุ่ม โดยปัจจุบันกองทุนมีเงินหมุนเวียนราวๆ 40,000 บาท

นอกจากการสร้างงานแล้ว การสร้างแรงบันดาลใจก็เป็นอีกสิ่งที่ทางกลุ่มให้ความสำคัญ เพราะต้องยอมรับว่า ผู้ป่วยบางคนจิตใจห่อเหี่ยว ไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ขณะที่คนพิการเองก็มักไม่ช่วยเหลือตัวเอง ดังนั้นตัวประธาน ซึ่งเป็นคนพิการ และรองประธานที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งปัจจุบันไปบวชแล้ว ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการเป็นต้นแบบ และทำให้การรักษาในพื้นที่ดำเนินไปได้ด้วยดี

“เราต้องกล้ายอมรับตัวเอง อย่างพี่ที่เป็นรองประธานเขาบอกเลยว่า ผมป่วย แล้วก็กินยาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเขาก็ดีขึ้น ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข คนอื่นๆ ที่เป็นเหมือนกันก็เริ่มเห็นตัวอย่าง แล้วทำตาม” ประธานกล่าว

สำหรับแนวทางในอนาคต อภิชัยบอกว่า ยังคงต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง และมีโครงการใหม่ที่เริ่มทำแล้ว คือการเลี้ยงปลาเลี้ยงกบ รวมไปถึงโครงการเพาะเห็ดซึ่งไปเข้ารับการอบรมมา และหากสำเร็จก็จะมีการพัฒนาเป็นกิจกรรมของกลุ่มต่อไป ซึ่งนับเป็นการสร้างศักดิ์ศรีและตัวตนของผู้ด้อยโอกาสให้มีที่ยืนในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ